วิกฤตอาหารสัตว์…17 สมาคมปศุสัตว์-สัตว์น้ำ วอนนายกฯ เร่งประกาศ “นำเข้ากากถั่วเหลือง” ก่อนเสียหายหนัก

สมาพันธ์ปศุสัตว์ฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ร้องขอรัฐบาลเร่งออกประกาศนำเข้า “กากถั่วเหลือง” ก่อนเกิดความเสียหายหนัก เพิ่มต้นทุนการผลิตและกระทบห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งระบบ หลังเรือขนวัตถุดิบกากถั่วเหลืองลอยลำในทะเล จ่อเข้าเทียบท่าไทย 3 ม.ค.67 หากนำเข้าไม่ได้จะถูกค่าปรับอ่วม ลดขีดความสามารถทางการแข่งขันส่งออกเนื้อไก่-กุ้งของไทย และซ้ำเติมเกษตรกรคนเลี้ยงหมูที่บอบช้ำจากหมูเถื่อนมาตลอดปี ลั่นจะส่งบิลเก็บค่าเสียหายทั้งหมดที่รัฐบาล ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง-ปลาร่วมยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ หลายจังหวัด ตอกย้ำความเดือดร้อนหากวัตถุดิบอาหารกุ้งขาดแคลน

วันที่ 25 ธ.ค.66 นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สมาพันธ์ฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทาง นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นหนังสือฉบับที่ 6 ที่ยื่นถึงรัฐในประเด็นนี้ เพื่อขอเข้าพบอธิบายเหตุผลและความจำเป็น ตลอดจนขอร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการออกประกาศทันที

“ผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทยมีเพียงปีละ 2-3 หมื่นตัน ซึ่งได้รับการปกป้องเกษตรกร โดยสมาพันธ์ฯ รับซื้อหมดทั้ง 100% แล้ว รวมถึงการรับซื้อจากโรงงานผลิตน้ำมันพืชด้วย จึงมองไม่เห็นเหตุผลที่รัฐบาลจะดึงการต่ออายุประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองให้ล่าช้ากว่าทุกปี ซึ่งส่งผลเสียอย่างมาก อยากวอนขอให้รัฐบาลนำวาระนี้เข้า ครม.ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นการประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายของปี พร้อมขอให้มีมติต่ออายุทันทีเพื่อจำกัดความเสียหาย ขณะที่จะต้องมีกระบวนการออกประกาศยกเว้นอากรของกระทรวงการคลังตามมาอีกขั้นตอนหนึ่งอย่างรวดเร็ว” นายพรศิลป์กล่าว

การขอความกรุณารัฐบาลเร่งรัดออกประกาศดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน เป็นไปเพื่อจำกัดความสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการสูญเสียโอกาสในการผลิตอาหารสัตว์ เพราะหากต้องหยุดชะงักเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบในการผลิต จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศ และกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเนื้อไก่ และกุ้ง ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจทั้งระบบ รวมกันกว่าหนึ่งล้านล้านบาท พร้อมระบุว่า หากล่าช้าจนเกิดความเสียหาย สมาพันธ์ฯ จะส่งใบเรียกเก็บค่าเสียหายไปยังรัฐบาล

นายสมภพ เอื้อทรงธรรม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 3 มกราคม 2567 จะมีเรือขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองเข้าสู่ประเทศไทยเป็นลำแรก และตลอดเดือนมกราคม 67 จะมีเรือนำเข้ากากถั่วเหลืองจำนวน 4 ลำ รวมปริมาณ 2.1 แสนตัน ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองออกไม่ทัน ได้แก่ 1.) เรือที่ขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองที่จะเข้ามาไทยจะไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้ และมีค่าใช้จ่าย (Demurrage Charge) วันละ 2.5 แสนบาท/ลำเรือ และเดือน มค. มีเรือเข้ามาพร้อมกัน 4 ลำ จะมีค่าใช้จ่ายรวม 1 ล้านบาท/วัน นับไปทุกวันจนกว่ารัฐบาลจะออกประกาศ และ 2.) ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า กรณีประกาศลดหย่อนอัตราภาษีของกระทรวงการคลังออกล่าช้า กรณี มค.67 มีรายการเข้ามาจำนวน 2.1 แสนตัน มูลค่านำเข้าประมาณ 4,200 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่ต้องสำรองจ่ายจะสูงถึง 336 ล้านบาท และมีอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า 1.68 ล้านบาท/เดือน ระยะเวลาขอคืนภาษี 6 เดือน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่าในเดือน มค.รวม 10.08 ล้านบาท

ด้าน นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่ากระบวนการผลิตไก่เพื่อส่งออกมีต้นน้ำในด้านการนำวัตถุดิบเข้ามาผลิตอาหารสัตว์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กากถั่วเหลือง” ซึ่งต้องนำเข้าปีละ 3 ล้านตัน และเป็นเรื่องปกติที่ต้องต่ออายุทุกๆ 3 ปี โดยประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2564-2566 กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาโดยที่ประชุม ครม. ก่อนเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป  แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดปีนี้กลับเกิดความล่าช้าขึ้นมาก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และกระทบขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไก่ไทยในตลาดโลก มูลค่าการส่งออกราว 1.5 แสนล้านบาทที่ตั้งเป้าไว้น่าจะเป็นไปได้ยาก 

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้รับความเดือดร้อนจากหมูเถื่อนมาหลายปี รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาโดยตลอด ขณะที่ตอนนี้ยังต้องกังวลกับสถานการณ์การนำเข้ากากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ ที่เกิดความล่าช้าจากการออกประกาศนำเข้า และจะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ซ้ำเติมความเดือดร้อนของคนเลี้ยงหมูอีกด้าน จึงอยากขอให้รัฐบาลนำวาระการต่ออายุประกาศ เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ทันที เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมหาศาล

ขณะเดียวกัน วันนี้ (25 ธ.ค.66) สมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย โดย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์ฯ ยังนำคณะเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำหลายสมาคม เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองโดยด่วน รวมถึง ตัวแทนเกษตรกรฯ ผู้เลี้ยงกุ้งและปลาในจังหวัดต่างๆ ก็เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องในประเด็นนี้ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดด้วย อาทิ จ.สุราษฎร์ธานี  จ.ตรัง จ.กระบี่  จ.จันทบุรี   จ.ระยอง  จ.ตราด  จ.ฉะเชิงเทรา ฯลฯ

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวว่า กุ้งไทยต้องใช้กากถั่วเหลืองในการผลิตอาหารกุ้ง ความล่าช้าจากภาครัฐในการต่ออายุนำเข้าเช่นนี้ ย่อมกระทบถึงต้นทุนการผลิตกุ้งไทยที่สูงอยู่แล้ว ให้สูงขึ้นไปอีก ซ้ำเติมพี่น้องเกษตรกร เพราะจะเกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งออกประกาศดังกล่าว ก่อนที่ความเสียหายของภาคปศุสัตว์และสัตว์น้ำทั้งหมดของประเทศไทยจะเกิดขึ้นจนยากที่จะเยียวยา สอดคล้องกับ นายอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ที่กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า การขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าปลายน้ำมีราคาสูงขึ้นตาม ส่งผลให้กุ้งไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลก กระทบการสร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองปีละเกือบ 3 ล้านตันในการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากผลิตถั่วเหลืองได้ประมาณปีละ 2-3 หมื่นตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ที่ผ่านมาสินค้ากากถั่วเหลืองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายอาหาร กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้พิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองภายใต้กรอบ WTO กำหนดโควต้าผู้มีสิทธิ์นำเข้า 11 ราย นำเข้าได้โดยไม่จำกัดจำนวน มีอัตราภาษีร้อยละ 2 โดยพิจารณาคราวละ 3 ปี ซึ่งประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2564-2566 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมนี้

ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายอาหาร จะยึดหลักบริหารวัตถุดิบให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการดูแลคุ้มครองเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธินำเข้า ให้การสนับสนุนรับซื้อกากถั่วเหลืองที่ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศของโรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมดไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนด โดยในปี 2566 กำหนดราคารับซื้อกากถั่วเหลืองอยู่ที่ 17.04 บาท/กก. คำนวนมาจากราคารับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองภายในประเทศที่กำหนดไว้ที่ 21.75 บาท/กก. ณ โรงงาน กทม. ซึ่งมี สำนักเศรษฐกิจการเกษตร เป็นผู้กำหนดราคาประกัน โดยพิจารณาจากต้นทุนเกษตรบวกกำไรที่เหมาะสม

ก่อนหน้านี้ สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้มีหนังสือติดตามความคืบหน้าการดำเนินการออกประกาศดังกล่าวไปแล้วหลายฉบับ โดยเริ่มต้นฉบับแรกตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 และ ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 เพราะเกรงจะซ้ำรอยกับเมื่อคราวปี 2561-2563 ที่ซึ่งครั้งนั้น มีการออกประกาศในวันที่ 11 มกราคม 2561 ล่าช้าไป 11 วัน แต่โชคดีที่ปีนั้นไม่มีการนำเข้ากากถั่วเหลืองในช่วงระหว่างวันที่ 1-11 มกราคม ทำให้ยังไม่เกิดความเสียหายจากการนำเข้าไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการออกประกาศล่าช้าของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้กระทรวงการคลังออกประกาศยกเว้นอากรภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองได้ในวันที่ 7 มีนาคม 2561 ล่าช้าไป 66 วัน ทำให้สินค้ากากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาในช่วงหลังจากวันที่ 11 มกราคมถึงวันประกาศกระทรวงการคลังออก (55 วัน) จะต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากต้องสำรองเงินเพื่อจ่ายอัตราภาษีส่วนเกิน 8% ก่อน โดยครั้งนั้นมีปริมาณนำเข้ากากถั่วเหลืองอยู่ที่ 5.6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่านำเข้า 7,430 บาท มูลค่าภาษีที่ต้องสำรองจ่ายจำนวน 594.4 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า 2.97 ล้านบาท/เดือน และเนื่องจากการขอคืนภาษีใช้ระยะเวลากว่า 6 เดือน ทำให้เกิดดอกเบี้ยสูญเปล่ารวม 17.82 ล้านบาท

หลังจากมีหนังสือฉบับที่ 2 ไป สมาพันธ์ฯ ได้รับคำตอบว่าจะต้องรอการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก่อน ทำให้สมาคมต้องมีหนังสือเร่งรัดฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เพื่อขอให้พิจารณาแนวทางอื่นในการออกประกาศ เนื่องจากเห็นว่าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในเวลานั้นไม่มีความชัดเจน แต่ก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีแนวทางอื่น จนกระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2566 จึงสามารถจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/2566 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ จากนั้นกระทรวงพาณิชย์มีหนังสือเสนอประกาศดังกล่าวเข้า ครม. เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 แต่ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่ถูกบรรจุเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยสมาพันธ์ฯ ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนทราบว่าจะถูกบรรจุวาระเข้าในการประชุม ครม.วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็มีการถอนวาระดังกล่าวออกไป โดยไม่ทราบสาเหตุการถอน และจะบรรจุเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2566

สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงจัดทำหนังสือเพื่อเร่งรัดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 โดยมีหนังสือไปยัง นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เร่งบรรจุเข้าวาระ ครม.วันที่ 19 ธันวาคม 2566 เพราะภายหลังจากผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว จะต้องมีกระบวนการออกประกาศยกเว้นอากรของกระทรวงการคลังอีกขั้นตอนหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าวาระ ครม.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related News