วัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ในภาวะต้นทุนการผลิตสูง : เอนไซม์

        บทความโดย     น.สพ. ยุทธ  เทียมสุวรรณ

            ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บจก. เซ็นทรัลลิส

ในยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าขึ้นราคา พบเกิดจากภาวะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นไปทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ปศุสัตว์ อันกำเนิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอยู่แล้ว มีตัวเร่งสำคัญคือ โรคระบาด COVID ต่อเนื่องมายังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ลามมายังราคาค่าน้ำมัน ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของทุกการผลิต และที่สำคัญในวงการเราก็คือ โรคระบาดสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ASF ในสุกร ทำให้ต้นทุนการผลิตสุกรในช่วงนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถควบคุม หรือลดต้นทุนได้นั้น ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับต้นทุนที่มีสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งมากถึง 60-70% ของต้นทุนทั้งหมด นั่นก็คือ ค่าอาหาร โดยอาหารสัตว์เช่น สุกร จะใช้วัตุดิบที่เป็นแหล่งพลังงานในอาหารถึง 65-75% โดยมักมีแหล่งมาจากพืชสูงถึง 55-95% แตกต่างกันไปขึ้นกับแต่ละสูตร และแนวโน้มช่วงหลังจะมี % ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แหล่งวัตถุดิบที่สำคัญมาจาก เมล็ดธัญพืช พืช และส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตพืชที่ใช้บริโภคในคนเป็นหลัก

ในทางโภชนศาสตร์ อาจแบ่งคาร์โบไฮเดรตในวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ แป้ง และไม่ใช่แป้ง โดยวัตถุดิบที่มีแป้งเป็นหลักคือ ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ร่างกายสัตว์สามารถผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ผลที่ได้คือน้ำตาลกลูโคส ซึ่งสัตว์นำไปใช้ได้ ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่แป้งและเป็นโพลีแซคคาไรด์ (NSP ; Non-starch polysaccharides) นั้น แบ่งได้เป็นชนิดไม่ละลายน้ำ เป็น NSP ที่มีมากในข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และชนิดที่ละลายน้ำ เป็น NSP ที่มีมากในข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวไรย์ และถั่วต่างๆ  ในที่นี้คงไม่ได้แยก แต่จะพูดเป็นภาพรวมทั้งหมดว่า NSP นั้นมีชนิดที่สำคัญ และพบปริมาณมากได้แก่ เซลลูโลส เพนโตแซน (ไซแลน อะราบิโนไซแลน) เบต้า-กลูแคนส์ เพคติน แต่กระนั้น NSP ก็ยังมีอีกมากมายหลายชนิดที่ไม่ได้กล่าวไว้  

NSP จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของผนังเซลล์พืช เสริมสร้างความแข็งแรงของทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น ต้น กิ่งก้าน ใบ ผล เมล็ด หัว แต่สัตว์กระเพาะเดี่ยว เช่น สุกร ไก่ จะไม่สามารถผลิตสร้างเอนไซม์ที่จำเพาะต่อกลุ่มนี้ได้ เรียกว่าย่อยแทบไม่ได้เลย ทั้งที่โมเลกุลเล็กสุดอันประกอบกันขึ้นมาเป็น NSP นั่นก็คือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลอื่นๆ อีกมากมายเช่น ไรโบส อะราบิโนส ไซโลส ที่สำคัญวัตถุดิบอาหารที่มี NSP สูง เช่น รำของข้าวต่างๆ เมล็ดข้าวโพด กากถั่วเหลือง ก็เป็นวัตถุดิบพื้นฐานหลักที่ใช้กันมากอยู่แล้วในแต่ละสูตร คงจะดีไม่น้อย ถ้าสามารถใช้เอนไซม์ช่วยย่อยได้ เพื่อให้สัตว์ดูดซึมน้ำตาลที่ปกติแทบจะสูญเปล่า เพราะถูกขับทิ้งออกมานี้ ให้นำไปใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับแร่ธาตุฟอสฟอรัส (P) ที่จำเป็นต้องเติมเพิ่มเข้าไปในสูตรอาหาร ไม่ว่าจะใช้ชนิดหรือรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่อยู่ในอาหารเช่นกัน ทั้งราคาก็ค่อนข้างสูง และบางชนิดยังดูดซึมไปใช้ได้ไม่ดีนัก จนอาจก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ฟอสฟอรัสมีความน่าสนใจในแง่การควบคุม หรือลดต้นทุนการผลิตได้เช่นกันคือ ในวัตถุดิบพืชอาหารสัตว์นั้นจะมี P อยู่แล้ว มากน้อยแตกต่างกันไปในพืชแต่ละชนิด โดย P ในเนื้อเยื่อพืชนี้จะอยู่ในรูปที่เรียกว่าไฟเตท (Phytate) หรือกรดไฟติก วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีไฟเตทสูงได้แก่ รำ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ คาโนล่า ข้าวโพด กากถั่วเหลือง กากเมล็ดทานตะวัน ซึ่งสัตว์กระเพาะเดี่ยวเช่น สุกร ไก่ จะไม่สามารถย่อยเพื่อนำ P ในไฟเตทออกมาใช้ได้ เนื่องจากไม่มีเอนไซม์ไฟเตส (Phytase) ในทางเดินอาหาร นอกจากนั้นไฟเตทยังมักชอบจับกับธาตุเหล็ก ทองแดง สังกะสี แคลเซียม แมกนีเซียม รวมถึงโปรตีน และกรดอะมิโนอีกหลายชนิดเช่น ฮีสทีดีน อาร์จีนีน จึงส่งผลขัดขวางยับยั้งการดูดซึม และนำไปใช้ประโยชน์อีกด้วย คงจะดีไม่น้อย ถ้าสามารถใช้เอนไซม์ช่วยย่อยได้ เพื่อให้สัตว์ได้รับ P ที่ปกติแทบจะสูญเปล่า เพราะถูกขับทิ้งออกมา ให้นำไปใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงได้รับแร่ธาตุ และกรดอะมิโน อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีสารต้านโภชนะมาขัดขวาง

เอนไซม์ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เหมาะสมจะนำมาใช้ในช่วงที่ภาวะต้นทุนการผลิตสูง และหาวัตถุดิบบางชนิดได้ยาก จะทำให้ใช้วัตถุดิบได้หลากหลายมากขึ้น บางชนิดไม่เคยใช้ในภาวะปกติ อาจถูกนำมาใช้ได้อย่างดีมีประสิทธิภาพเมื่อมีเอนไซม์ในอาหาร โดยเอนไซม์มีมากมายหลายชนิด จำเพาะขึ้นกับซับสเตรท หรือสารที่เอนไซม์ทำปฏิกิริยาด้วย ปัจจุบันเพื่อความสะดวกสบาย และให้เกิดผลดีที่สุด จึงนิยมใช้เอนไซม์ในรูปแบบผสมรวมกันหลายชนิด ได้แก่ ไซลาเนส เซลลูเสส เพคทิเนส กลูคาเนส แมนนาเนส กาแล็กโทซิเดส ไฟเตส รวมถึงบางชนิดบางยี่ห้ออาจผสมรวมอะไมเลส โปรติเอส ไลเปส ลงไปด้วย ซึ่งแม้ว่าสัตว์จะผลิตได้เองอยู่แล้ว แต่ในสัตว์อายุน้อยจะยังผลิตได้ไม่มาก จึงอาจได้ประโยชน์ดีในสัตว์อายุน้อย หรือสัตว์ที่มีปัญหาสุขภาพต่างๆ ทำให้มีกระบวนการย่อยดูดซึมไม่ดี หรือผลิตเอนไซม์นี้ได้น้อย สำหรับการใช้เอนไซม์เติมลงในอาหารนั้น อาจคาดหวังประสิทธิผลได้ในสองรูปแบบนั่นก็คือ 1 คำนวณโภชนะสมดุลตามปกติ หรือ 2 คำนวณแบบลดทอนโภชนะลง

การเติมเอนไซม์ลงในอาหารที่คำนวณโภชนะสมดุลตามปกติ หรือการ top-up เพิ่มลงไปนั้น เหมาะกับฟาร์มที่มีสูตรอาหารอยู่แล้ว อาจคำนวณปรับเปลี่ยนแปลงเองได้ยาก หรือคำนวณได้ว่าการใช้แบบนี้ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าการลดทอน วิธีนี้อาจดูผิวเผินเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าอาหารให้สูงขึ้น เพราะมีค่าเอนไซม์เพิ่มเข้ามา โดยในทางทฤษฎีอธิบายไว้ว่า เอนไซม์ช่วยลดความหนืดของอาหารที่เกิดจาก NSP ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยได้ของโภชนะต่างๆ โดยเฉพาะในสัตว์อายุน้อย ช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่ร่างกายสัตว์หลั่งออกมาเอง ไม่ถูกขับทิ้งแบบเสียเปล่าเพราะ NSP ไปดูดซึมเอาไว้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบบางชนิดที่ใช้ไม่ได้ หรือได้น้อย ทำให้ได้โภชนะเพิ่มขึ้น การดูดซึมและได้รับโภชนะเพิ่มขึ้น นั่นคือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารให้สูงขึ้น มีอัตราแลกเนื้อดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน ผลผลิตไข่ เนื้อ ให้ดีขึ้น อาหารที่สัตว์ย่อยไม่ได้จะเหลือน้อยลง เป็นการลดอาหารของเชื้อก่อโรค ลดการหมักอาหารของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร สัตว์จะมีสุขภาพแข็งแรง ลดอาการท้องเสีย ท้องอืด และลดการปล่อยของเสียที่ขับถ่ายออกสู่สภาวะแวดล้อมให้น้อยลง

ยกตัวอย่างการทดลองใช้เอนไซม์รวมยี่ห้อหนึ่งในอาหารสุกรน้ำหนักประมาณ 6 กก. เป็นเวลา 6-7 สัปดาห์ จนถึงน้ำหนักประมาณ 25 กก. ผลพบว่าสุกรกลุ่มที่เสริมเอนไซม์ในอาหารนั้น จะมีน้ำหนักสิ้นสุด และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมา มากกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ใส่ประมาณ 1.3 กก.ต่อตัว มีค่า ADG มากกว่า 27 ก.ต่อวัน ค่า FCR ดีกว่า 0.36 คิดเป็นค่า FCG ที่ถูกกว่า 6 บาทต่อ กก.  ทั้งที่กลุ่มนี้เมื่อคิดเฉพาะต้นทุนค่าอาหารจะสูงกว่า  เพราะมีค่าเอนไซม์เพิ่มเข้ามา จากทั้งหมดที่กล่าวมา

ล้วนทำให้มูลค่าของสุกรเพิ่มขึ้นสูงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้เอนไซม์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักมากกว่า วันเลี้ยงลดลง อาหารที่อาจกินน้อยกว่า ทำให้เมื่อคำนวณราคาขาย กำไร และต้นทุน สุดท้ายแล้วจะพบว่าคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเมื่อใช้เอนไซม์

การเติมเอนไซม์ลงในอาหารที่คำนวณแบบลดทอนโภชนะลงนั้น เหมาะกับฟาร์ม หรืออุตสาหกรรมที่มีผู้ควบคุม และออกแบบสูตรอาหารแบบเชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ทั้งในเรื่องวัตถุดิบ โภชนะ ความต้องการของสัตว์ และการใช้เอนไซม์ได้เป็นอย่างดี ทั้งมีเทคนิคในการปรับเปลี่ยนแปลงได้อย่างถูกต้องตามหลักการโภชนศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ วิธีนี้จะต้องใช้ค่า Matrix value ของเอนไซม์นั้นๆ ประกอบ โดยเป็นค่าที่แสดงว่าเมื่อใช้เอนไซม์ยี่ห้อนี้ ด้วยขนาดโดสเท่านี้ ในสัตว์ชนิดนี้ ในวัตถุดิบหลักชนิดนี้ จะทดแทนให้พลังงาน ME โปรตีน กรดอะมิโน ฟอสฟอรัส แคลเซียม ออกมาเป็นปริมาณเท่าไหร่ ดังนั้นจึงสามารถลดโภชนะเหล่านี้ในสูตรได้หลายวิธีการเช่น ลดปริมาณ เปลี่ยนชนิดวัตถุดิบเป็นชนิดที่มีกาก หรือเยื่อใยมากยิ่งขึ้น โดยที่ต้องมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับวัตถุดิบเดิม โดยวิธีนี้เน้นย้ำว่าต้องค่อนข้างแม่นยำ และติดตามผลอย่างใกล้ชิด ต้องมีผลกระทบต่อตัวสัตว์ และผลผลิตน้อยที่สุด เพราะบางครั้งการลดแค่ต้นทุนค่าอาหารได้ถูกลงจริง แต่ประสิทธิภาพการใช้อาหารกลับต่ำลง หรืออัตราแลกเนื้อแย่ลง หรือทำให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง เช่น อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน ผลผลิตไข่ นม เนื้อ หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่คุ้มค่า แถมจะก่อความเสียหายมากกว่าเดิมอีก ต้องเน้นย้ำอยู่เสมอว่าลดต่ำได้มากที่สุด เท่าที่ไม่มีผลกระทบ หรือกระทบน้อยที่สุดในระดับที่เรายอมรับได้ และประเมินแล้วว่าคุ้มค่าต่อการทำ

โดยมักมีคำถามยอดฮิตว่า วิธีนี้จะลดต้นทุนค่าอาหารได้กี่บาท มากน้อยเท่าไร ในส่วนนี้จะตอบได้ยากมาก เนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย เช่น แหล่งที่มา-ชนิด-คุณภาพ-ปริมาณที่ใช้-ราคาของเอนไซม์ ที่สำคัญคือค่า Matrix value รวมถึง ชนิด          -โภชนะ-คุณภาพ-ราคาของวัตถุดิบที่จะถูกลด หรือเปลี่ยน หรือนำเข้ามาใช้ทดแทน อันจะส่งผลถึงปัจจัยที่กำหนดลงไปให้โปรแกรมคำนวณสูตรเลือกหรือไม่เลือกใช้ รวมถึงวิจารณญาณ และประสบการณ์ในการตัดสินใจของผู้ออกแบบสูตรเองด้วย เช่น ทำแบบนี้สัตว์จะไม่กิน ความน่ากินต่ำ เป็นต้น มีหลายกรณีศึกษาที่ใช้วิธีนี้ สรุปด้วยมาตรฐานกลางๆ ทั่วไป พบว่าสามารถลดราคาต้นทุนค่าอาหารได้ถึง 500 บาทต่อตันอาหาร แต่บางกรณีก็ได้มากกว่านี้ หรือบางกรณีก็ได้น้อยกว่านี้ แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนี้ทุกกรณีในทุกครั้งที่ศึกษา หรือในทุกครั้งที่ออกแบบสูตร เพราะวิธีการ และผลลัพธ์ในการออกแบบสูตรแบบลดทอนโภชนะ และใช้เอนไซม์นั้น มีความหลากหลายมากมาย และเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ แม้จะออกแบบสูตรโดยคนเดิมก็ตาม ที่ต้องพึงระวังไว้อีกอย่างหนึ่งคือ แม้คำนวณลด เปลี่ยน ทดแทน วัตถุดิบร่วมกับการใช้เอนไซม์จนได้โภชนะที่ต้องการแล้ว แต่ในชีวิตจริง วัตถุดิบที่เป็นพืช และตัวสัตว์ที่กินอาหารนั้น ล้วนแต่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก อาจเกิดเหตุการณ์ไม่กิน หรือกินแล้วไม่โตตามแบบอาหารปกติ แม้จะคำนวณจนได้ทุกค่าทางโภชนะเท่าเดิมแล้วก็ตาม

การใช้เอนไซม์ควรใช้ในสัตว์หลังหย่านม หรือมีอายุน้อยจะให้ผลที่ชัดเจน และดีมากกว่า เนื่องจากช่วงหลังหย่านมจะมีความเครียดสูง ยิ่งให้การผลิตเอนไซม์ลดน้อยลงไปอีก จึงไม่เพียงพอ แต่เมื่อสัตว์โต มีอายุมากขึ้น ระบบทางเดินอาหารจะพัฒนาสมบูรณ์เต็มที่ มีความแข็งแรงมากขึ้น สามารถผลิตน้ำย่อยหรือเอนไซม์ของตัวเองได้มากจนเพียงพอ นอกจากนี้ควรเลือกชนิดเอนไซม์ที่ทำงานได้ดีตลอดทางเดินอาหาร ที่อุณหภูมิร่างกายสัตว์ ทนความร้อน ทนต่อกรดและเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน อีกทั้งการใช้วัตถุดิบพืชที่หลากหลาย มีองค์ประกอบทางเคมีมากมายซับซ้อน จึงควรใช้เอนไซม์รวมมากกว่าชนิดเดี่ยวๆ จะได้ย่อยครอบคลุมทั้งหมด บางชนิดไปย่อยส่วนด้านนอกก่อน ทำให้ชนิดอื่นๆ ไปย่อยภายในได้ รวมถึงเอนไซม์ต้องเหมาะสมกับวัตถุดิบที่ใช้จริงในฟาร์ม หรือในประเทศ เพราะความจำเพาะเจาะจงของเอนไซม์และซับสเตรทเองนั้น  จึงพบว่าเอนไซม์บางยี่ห้ออาจย่อยข้าวสาลี   รำข้าวสาลี   ได้ดีกว่าย่อยรำข้าวเจ้า  รำข้าวเหนียวในประเทศเราเอง

และในทางตรงกันข้าม ในมุมมองของผู้เขียนเองที่เป็นนักวิชาการ ก็ต้องรายงานว่ามีอีกหลายการศึกษาด้วยเอนไซม์ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือหลายชนิดรวมกัน ในหลายชนิดสัตว์ หรือในหลายอายุ ที่อาจไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเติมเอนไซม์ลงในอาหารที่คำนวณโภชนะสมดุลตามปกติ หรือเมื่อเติมเอนไซม์ลงในอาหารที่คำนวณแบบลดทอนโภชนะลง ก็ไม่อาจทำให้ได้ผลดีกลับมาเทียบเท่าการใช้อาหารปกติได้ เพราะมีเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องมากมายที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ ชนิดสัตว์ พันธุ์สัตว์ อายุสัตว์ อาหาร วัตถุดิบที่เลือกใช้ สูตรอาหาร การเลี้ยงการจัดการ สิ่งแวดล้อม สุขภาพสัตว์ โรค ภูมิคุ้มกัน พยาธิในทางเดินอาหาร และความเที่ยงตรงแม่นยำถูกต้องในการวัดผล

โดยสรุปเอนไซม์ที่เติมในอาหารสัตว์ อาจช่วยลดต้นทุนการผลิตในภาวะวัตถุดิบขาดแคลน จะมีทางเลือกให้เลือกใช้วัตถุดิบได้หลายหลายชนิดมากขึ้น ใช้วัตถุดิบที่ผันแปรได้มากขึ้น ใช้ได้แบบยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานสำคัญที่ว่า “วัตถุดิบที่มีให้เลือกใช้ทดแทนนั้น ต้องมีราคาถูก” มิเช่นนั้นถ้าใช้เอนไซม์กับวัตถุดิบทางเลือกที่ราคาแพง จะยิ่งทำให้ต้นทุนสูง ดูราวกับจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ในสภาวะเช่นนี้ และสุดท้ายเอนไซม์จะได้ผลหรือไม่ ทั้งในแง่การเจริญเติบโตของสัตว์ หรือลดต้นทุนค่าอาหาร ทำให้ได้กำไรมากขึ้นหรือไม่  ก็ต้องทดลองใช้ และดูผลการตอบสนองของตัวสัตว์ในฟาร์มท่านเอง ภาวะข้าวยากหมากแพงครั้งนี้ คงไม่ได้เกิดเป็นครั้งแรก หรือครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน คงจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้วนลูปซ้ำๆ เร็วบ้าง ช้าบ้าง หากรู้ทัน และเตรียมการตั้งรับตลอดเวลา ก็คงจะทำให้ผ่านมันไปได้ไม่ยาก….

เอกสารอ้างอิง

จารุพร สุปะโค. http://www.agri.ubu.ac.th/mis/seminar/upload/254WjABiPR39Y.pdf

ศศิรัตน์ พลแสน. http://www.agri.ubu.ac.th/mis/seminar/upload/145.pdf

สุทัศน์ ศิริ และคณะ. http://webpac.library.mju.ac.th:8080/mm/fulltext/research/2549/Suthut_Siri_2540/fulltext.pdf

สุนิษา สวัสดี. http://agr.rmutsv.ac.th/agr/sites/default/files/banner/download-file/Student/2560/

สุพิชญา เจริญศิลป์ และคณะ. https://agkb.lib.ku.ac.th/ku/search_detail/dowload_digital_file/12911/89435 อรสา ปรางค์ทอง และ ศศิประภา กระเทศ. 2561. ปัญหาพิเศษ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. 63 หน้า.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related News