คลี่คลาย! ประมงราชบุรีมั่นใจ คุมสถานการณ์ปลาหมอคางดำได้ – เดินหน้าจัดการอย่างเป็นระบบ

ประมงจังหวัดราชบุรี เผยสถานการณ์ปลาหมอคางดำในจังหวัดราชบุรีอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ และในลำคลองยังพบปลาพื้นถิ่นอาศัยอยู่หลายชนิด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อระบบนิเวศ ปีนี้ราชบุรียังคงดำเนินการต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศและดูแลเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเป็นระบบ

วันที่ 17 มกราคม 2568 นายจิระพงศ์ ศิริวัฒน์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนประมงจังหวัดราชบุรี มอบหมายให้นางสาวจินตนา นิธรรม หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง นางสายหยุดฤทธิ์ ช่วยประมง อำเภอโพธาราม พร้อมเจ้าหน้าที่และหน่วยงานพันธมิตร ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” จับปลาหมอคางดำในคลองหนองบางงู ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม ตามแผนปฏิบัติการในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ตั้งเป้าจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้ครบทั้ง 6 อำเภอ ควบคู่กับการวางแผนการปล่อยปลาผู้ล่าลงในแหล่งน้ำเพื่อช่วยกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ และในระยะต่อไปมีการวางแผนการปล่อยปลาพื้นถิ่นกลับคืนลงสู่แหล่งน้ำเพื่อทดแทนปลาที่ถูกกำจัดออก และเพิ่มความหลากหลายในระบบนิเวศ

จังหวัดราชบุรี ยังพบปลาหมอคางดำในพื้นที่ 6 อำเภอ แต่มีปริมาณน้อยและไม่รุนแรง อยู่ในระดับสีเขียว หรือพบน้อยกว่า 10 ตัวต่อพื้นที่ 100 ตารางเมตร ที่สำคัญในคลองต่างๆ ยังพบปลาพื้นถิ่นชนิดอื่นๆ เช่น ปลาสร้อย ปลาตะเพียน เป็นต้น และเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเพาะปลูกพืชในร่องสวน จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ส่วนในพื้นที่อำเภอบางแพซึ่งมีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากของจังหวัด พบจำนวนปลาหมอคางดำน้อยมาก และเกษตรกรยังมีเตรียมความพร้อมจัดการบ่อเลี้ยงป้องกันปลาหมอคางดำรุกล้ำเข้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

ปีนี้ราชบุรียังคงดำเนินการต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศและดูแลเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด จะมีการจัดกิจกรรมลงแขกลงคลองจับปลาออกจากลำคลองในพื้นที่ 6 อำเภอ และดำเนินการปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อช่วยตัดวงจรปลาหมอคางดำ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะเดียวกัน ประมงจังหวัดยังดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังและแจ้งเจ้าหน้าที่หากพบปลาชนิดนี้ในลำคลอง ตามมาตรการ “เจอ แจ้ง จับ จบ” พร้อมกับสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า ปลาหมอคางดำมีประโยชน์สามารถนำมาบริโภค หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ตลอดจนนำมาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพสำหรับเกษตรกรปลูกพืชได้อีกด้วย.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related News