โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth disease, FMD) ชื่ออื่นเช่น กีบ, กลีบ, เอฟ, Aphthous fever, Epizootic aphthae, Vesicular aphthae เป็นโรคที่พบมานานมากแล้ว อาจย้อนไปถึงปี 1514 และยังคงอยู่มาจนปัจจุบันนี้ ก่อความเสียหายมากมายมหาศาลในทวีปยุโรป ยกตัวอย่างช่วงปี 2001 มีการระบาดครั้งร้ายแรง ทำลายสัตว์ไปเป็นจำนวนมาก คิดมูลค่าความเสียหายได้มากถึง 13 พันล้านยูโร หรือแม้กระทั่งในเอเชียแถบประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังคงพบการระบาดอยู่เนืองๆ ซึ่งครั้งนี้มีเหตุการณ์น่าสนใจที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังคือ ตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่แล้ว 2566 องค์การอนามัยสัตว์โลก (องค์การสุขภาพสัตว์โลก) หรือชื่อเดิม องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ WOAH (World Organisation for Animal Health) ได้รายงานพบการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยสายพันธุ์ Southern African Territories ชนิดที่ 2 หรือ SAT2 อีกครั้งหนึ่งในทวีปเอเชีย โดยก่อนหน้านี้เคยพบสายพันธุ์นี้ในทวีปเอเชียมาบ้างแล้วเมื่อปี 1990, 2000 และ 2012 แถบตะวันออกกลาง เยเมน ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน แต่ก็ได้รับการกำจัดจนหมดสิ้นไป มาพบอีกครั้งเมื่อปี 2023 จึงถือว่าการพบสายพันธุ์นี้เป็นครั้งแรกของทวีปเอเชียในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากจอร์แดน อิรัก แล้ว ครั้งนี้ยังพบการระบาดที่ตุรกีอีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็คาดว่าระบาดแถบแอฟริกาเหนือที่ลิเบีย ตูนีเซีย แอลจีเรีย มาก่อนแล้ว สำหรับเชื้อที่พบในตุรกีพบว่ามีความใกล้เคียงทางพันธุกรรมกับเชื้อในประเทศเอธิโอเปีย

โรคนี้เกิดจากเชื้อ Aphthovirus ซึ่งเป็น  RNA ไวรัส สายเดี่ยว ไม่มีเปลือกหุ้ม รูปทรง Icosahedral มีขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์ Picornaviridae โดยทั่วโลกพบว่าไวรัสนี้แบ่งออกเป็น 7 ซีโรไทป์ย่อยคือ O, A, Asia1, C, SAT1, SAT2 และ SAT3 ส่วนไทยและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีรายงานอุบัติการณ์พบเพียงแค่ 3 ซีโรไทป์ คือ O, A และ Asia1 (ที่ไทยไม่พบมานานแล้ว) ส่วนซีโรไทป์ SAT1, SAT2 และ SAT3 มีความพิเศษที่พบได้เฉพาะในทวีปแอฟริกาเท่านั้น โดยซีโรไทป์ SAT2 ที่เราสนใจในครั้งนี้ (มิใช่เป็นสายพันธุ์เกิดขึ้นใหม่ เพียงแต่ใหม่สำหรับบ้านเรา) ปกติแล้วจะระบาดเป็นโรคประจำถิ่นของทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าเท่านั้น ซึ่งการระบาดออกไปยังพื้นที่ใหม่อย่างทวีปเอเชียนั้น ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาที่น่าวิตกในแง่ที่ว่า พื้นที่เหล่านี้ที่ไม่เคยมีการระบาดของซีโรไทป์นี้มาก่อน จึงยังไม่มีการผลิตหรือใช้วัคซีนสำหรับซีโรไทป์นี้ ตลอดจนสัตว์ในพื้นที่ไม่เคยสัมผัสเชื้อนี้ จึงยังไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน โอกาสติดเชื้อ แพร่กระจายเชื้อ แสดงอาการป่วยจะสูงมาก เนื่องจากแต่ละซีโรไทป์จะไม่ให้ความคุ้มโรคข้ามกัน และแม้แต่ในซีโรไทป์เดียวกันยังแบ่งออกเป็นอีกหลายโทโปไทป์ หลายซับไทป์ ซึ่งการให้ความคุ้มโรคข้ามซับไทป์นี้ตามหลักวิชาการเกิดได้ แต่ก็ยังเป็นที่วิตกกังวลกันอยู่ว่าอาจได้ไม่ดีนัก

โรคนี้เกิดได้เฉพาะในสัตว์เคี้ยวเอื้อง และสัตว์กีบคู่ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร ควายป่า กวางตระกูลต่างๆ ช้าง อูฐ ยีราฟ โรคนี้ติดต่อกันค่อนข้างง่าย เนื่องจากมีความทนทานสูง ไวรัสนี้ในทุกซีโรไทป์รวมถึง SAT2 ทนต่อ pH ช่วง 6-9 ทนความเย็น ถูกทำลายเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 50 C ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ได้ผลดีได้แก่ โซเดียมไฮดรอกไซด์ เปอร์ออกซิเจน ฟีนอล คลอรีน ฟอร์มาลิน กลูตาราลดีไฮด์ QAC เป็นต้น ที่สำคัญไวรัสคงอยู่ในกล้ามเนื้อ น้ำนม และผลิตภัณฑ์ที่แช่เย็นได้นานหลายเดือน นอกจากทนทานสูงแล้วยังแพร่กระจายติดต่อง่ายอีกด้วย ไวรัสจะออกมากับสิ่งคัดหลั่งจากสัตว์ที่ติดเชื้อเป็นพาหะ หรือสัตว์ป่วย เช่น ของเหลวจากตุ่มใส แผลเปื่อย น้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำนม น้ำเชื้อ ติดต่อไปยังสัตว์ที่มีความไวรับสูง คือไม่มีภูมิคุ้มโรคจำเพาะกับซีโรไทป์นั้น ซึ่งก็จะเกิดขึ้นแน่นอน หากซีโรไทป์ SAT2 เข้ามาในบ้านเราช่วงแรก สัตว์จะได้รับเชื้อทางตรงผ่านทางการสัมผัส บาดแผลที่เกิดเองหรือจากการตัดเขี้ยวหูหางเขา การหายใจเอาอากาศที่มีไวรัสอยู่เข้าไป การกินน้ำหรืออาหารหรือน้ำนมที่มีไวรัสปนเปื้อนอยู่ การผสมเทียม จากแม่สู่ลูก และยังได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านยานพาหนะ คน เสื้อผ้า รองเท้า วัสดุ อุปกรณ์ เข็มฉีดยา เครื่องมือเครื่องใช้ สิ่งแวดล้อม สัตว์พาหะ หรือผลิตภัณฑ์อาหารปนเปื้อนเชื้อที่นำเข้ามาในฟาร์ม

เชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน เริ่มด้วยอาการไข้สูง นอนสุม ซึม เบื่ออาหาร น้ำลายไหลยืดเป็นฟองหรือโฟม เกิดเม็ดตุ่มพองใสบริเวณส่วนปาก จมูก ลิ้น คอหอย เหงือก เพดาน เต้านม หัวนม ปากช่องคลอด ถุงอัณฑะ ไรกีบ พื้นเท้า หลังเกิดภายใน 24 ชม. ตุ่มใสจะแตกออก เป็นแผลสดหลุมตื้นสีแดงมีเลือดออก จากนั้นจะกลายเป็นแผลเปื่อย เนื้อเยื่อหลุดลอก โดยเฉพาะในช่องปาก อุ้งเท้า และซอกกีบ สัตว์จะมีอาการเจ็บปวดมาก นอนร้อง ไม่ค่อยลุก เจ็บขา ยืนลำบาก เดินกระเผลกหลังโก่ง กรณีรุนแรงอาจถึงขั้นกีบเปื่อยหลุด มีเลือดออก หรือติดเชื้อแทรกซ้อนมีหนอง ในสุกรมักพบรอยโรคที่กีบมากกว่า ส่วนโคมักเจอรอยโรคที่ปากมากกว่า ในลูกสัตว์เกิดใหม่จะพบอัตราการตายสูงถึง 50% จากภาวะเสื่อมและอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจวาย เห็นเป็นรอยแถบริ้วสีขาวแกมเทากระจายทั่วผิวกล้ามเนื้อหัวใจด้านนอก เรียกว่า Tiger heart สัตว์อุ้มท้องมักแท้งจากไข้สูง น้ำนมลด น้ำเชื้อพ่อพันธุ์เสื่อมคุณภาพ สัตว์ที่โตแล้วมักหายได้เอง อัตราการตายไม่สูง

วินิจฉัยโรคจากประวัติ อาการ วิการรอยโรคที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งเป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ควรทำการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกแยะจากโรคที่ทำให้เกิดตุ่มพองใสอื่นๆ หรือส่งตรวจเพื่อยืนยันซีโรไทป์ อันเป็นประโยชน์ในแง่ระบาดวิทยาว่าซีโรไทป์ SAT2 ได้อุบัติขึ้นในไทยหรือยัง ยังผลดีต่อการควบคุมป้องกัน และใช้วัคซีนต่อไปในอนาคต สิ่งที่ควรส่งตรวจได้แก่ ตุ่มพองหรือน้ำใสที่เกิดใหม่ๆ แช่ใน 50% glycerin buffer 4-7 C ไม่มีการรักษาที่จำเพาะสำหรับโรคนี้ ให้รักษาตามอาการเพื่อควบคุมการติดเชื้อแทรกซ้อน นิยมให้ยาต้านจุลชีพทั้งแบบกินและฉีด เช่น เพนิซิลลิน ซัลฟา OTC ร่วมกับรักษาบาดแผลโดยใช้เจนเชียนไวโอเลต หรือไอโอดีนทาแผล จุ่มหรือพ่นกีบด้วยจุนสี ด่างทับทิม หรือฟอร์มาลินเจือจาง ฆ่าเชื้อในคอกในสิ่งแวดล้อมด้วยโซดาไฟ ปูนขาว อย่างไรก็ตามในสัตว์ที่มีอาการหนักนิยมคัดทิ้งหรือทำลายมากกว่ารักษา เนื่องจากช่วยลดปริมาณของไวรัสได้มาก และทำให้ควบคุมโรคได้เร็วขึ้น ในช่วงสัตว์ป่วยสุขภาพจะทรุดโทรมมาก น้ำหนักลด แม้รักษาหายก็มักจะพิการเรื้อรัง ใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนาน มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตอย่างถาวร จึงต้องประเมินความคุ้มค่าต่อการรักษา

ควรป้องกันก่อนเกิดโรคด้วยการทำวัคซีน วัคซีนเป็นชนิดเชื้อตาย ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันก่อนเกิดโรค และควบคุมหลังเกิดโรคไปแล้ว จำเป็นต้องใช้วัคซีนที่ประกอบไปด้วยทุกซีโรไทป์ ที่มีการระบาดในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งขณะนี้ในไทยอย่างน้อยที่สุดก็จำเป็นต้องมี O และ A ส่วน Asia1 ถ้าเป็นได้ก็ควรมีเนื่องจากยังมีการระบาดอยู่ในเอเชียแถบที่ไม่ไกลจากเราอยู่ สัตว์จะมีภูมิคุ้มกันโรคหลังได้รับเชื้อ หรือฉีดวัคซีนไปแล้ว 3-4 สัปดาห์ อยู่ได้นาน 3-6 เดือน ดังนั้นสัตว์จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยปีละ 2-3 เข็ม อาจเป็นแบบปูพรม ก่อนคลอด หรือหลังคลอดก็ได้ตามความเหมาะสม ภูมิคุ้มกันจะส่งถ่ายผ่านน้ำนมเหลืองให้ลูกสัตว์ได้ภายใน 2-3 ชม.หลังดูดนมครั้งแรก และภูมิคุ้มที่ได้รับจากแม่นี้จะอยู่ได้นาน 12-16 สัปดาห์ ดังนั้นลูกสุกรจึงแนะนำให้ฉีดหลังอายุ 8 สัปดาห์เป็นต้นไป และลูกโคควรฉีดเข็มแรกที่อายุประมาณ 16 สัปดาห์เป็นต้นไป จากนั้นอีก 3-4 สัปดาห์ให้กระตุ้นซ้ำเข็มที่สอง และกระตุ้นซ้ำทุกๆ 4-6 เดือน  ไม่ควรใช้วัคซีนสลับชนิดกันระหว่างสุกรและสัตว์เคี้ยวเอื้อง เนื่องจากมีการใช้สื่อที่ต่างชนิดกัน ส่งผลตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ต่างกัน ในโคเป็นสื่อน้ำควรฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในสุกรเป็นสื่อน้ำมันควรฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของโรคนี้เกิดจาก ต่างประเทศจะไม่ยอมรับเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากประเทศที่ยังมีการระบาดอยู่ จึงถือว่าเป็นไวรัสที่มีความสำคัญมากทางเศรษฐกิจ โดยไม่พบโรคนี้ในอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์  และสแกนดิเนเวีย ความสูญเสียอื่นๆ ยังเกิดได้จากการต้องคัดทิ้งทำลายสัตว์ ประสิทธิภาพการเจริญเติบโตน้อยลง น้ำนมลด แท้ง ไม่สมบูรณ์พันธุ์ ลูกสัตว์ตาย ป่วยเรื้อรัง ค่ายารักษา ค่าวัคซีนป้องกัน ค่ามาตรการในการจัดการทุกๆ ด้าน ค่าแรงงาน ค่าเสียโอกาสต่างๆ ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศอันเกิดจากการกีดกันทางการค้า เห็นได้ว่ามากมายมหาศาล

กลับมาเรื่อง SAT2 กับประเทศไทยบ้าง ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานอุบัติการณ์พบซีโรไทป์นี้แต่อย่างใด แต่ดูจากรูปแบบการระบาดของโรคอื่นเทียบเคียงแล้ว มีความน่าวิตกกังวลพอสมควร อาจคล้ายคลึงกับโรคลัมปีสกินในโค กระบือ หรือโรค ASF ในสุกร ที่พอระบาดเข้ามายังทวีปเอเชีย ก็อาจใช้เวลาสั้น หรือยาวนาน ก็ขึ้นแต่บริบทแต่ละโรค แต่ละสภาพแวดล้อมภูมิศาสตร์ ปริมาณและการกระจายตัวของสัตว์ไวรับ รวมถึงปัจจัยเกี่ยวข้องในการควบคุมหรือรับมือ เมื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงของการนำซีโรไทป์นี้เข้าประเทศไทย หากเป็นไปในช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายของการนำปศุสัตว์มีชีวิตติดเชื้อ หรือสัตว์ป่ามีชีวิตติดเชื้อเข้ามานั้น มีความเสี่ยงน้อยมาก เพราะไทยยังไม่มีการค้าโดยตรงหรือปริมาณมากกับประเทศแถบที่มีการระบาดอยู่ขณะนี้ และหากมีก็ต้องตรวจสอบ พร้อมกักโรคอย่างเข้มงวดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่หากเป็นในแง่ช่องทางลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย ก็ยังพบว่ามีความเสี่ยงน้อย เพราะประเทศเหล่านั้นถือว่ายังอยู่ห่างไกล แต่ประเด็นนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมาก ถ้าหากโรคแพร่กระจายเข้ามาประชิดบ้านเราเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมาทางอินเดีย พม่า หรือจีน ลาว ก็ตาม หากเข้ามาได้ตามช่องทางลักลอบนี้ โอกาสที่จะแพร่กระจายติดเชื้อในประเทศก็จะสูงมากสำหรับปศุสัตว์ที่นำเข้า แต่ในแง่ของสัตว์ป่านั้นมีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายเชื้อในประเทศอยู่ในระดับปานกลาง-น้อย เนื่องจากยังไม่มีรายงานการติดเชื้อโดยวิธีนี้ และที่สำคัญโอกาสที่สัตว์ป่าจะมีเชื้อมาสัมผัสปศุสัตว์นั้นก็ยังมีน้อย

ส่วนในแง่ของผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนเชื้อ หากเป็นไปในช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายถือว่ามีความเสี่ยงน้อยมาก แต่หากเป็นในแง่ช่องทางลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายนั้น พบว่ามีความเสี่ยงปานกลาง แต่โอกาสที่ปศุสัตว์ในประเทศจะติดเชื้อจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ยังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากยังไม่เคยพบการระบาดของโรคใดๆ ในปศุสัตว์จากสาเหตุนี้เลย ส่วนในแง่ของวัตถุดิบอาหารสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป หากเป็นไปในช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายถือว่ามีความเสี่ยงน้อยมาก แต่หากเป็นในแง่ช่องทางลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายนั้น พบว่ามีความเสี่ยงปานกลาง-น้อย เนื่องจากยังไม่เคยมีรายงานการระบาดของซีโรไทป์ SAT2 จากสาเหตุนี้เลย แต่พบว่าซีโรไทป์อื่น เคยมีรายงานในต่างประเทศถึงการปนเปื้อนและติดต่อมาจากฟางหญ้าที่นำเข้ามาจากประเทศที่มีโรคระบาดอยู่ได้ ทำให้โอกาสที่ปศุสัตว์ในประเทศจะติดเชื้อจากสาเหตุนี้มีอยู่ในระดับปานกลาง

หากให้พยากรณ์ผลกระทบกรณีมีเชื้อไวรัสซีโรไทป์ SAT2 หลุดรอดเข้ามาในไทยได้ คาดว่าสัตว์จะติดเชื้อมีอัตราป่วยในระดับสูงมาก เนื่องจากโดยคุณสมบัติแล้วไม่ว่าซีโรไทป์ไหนก็จะแพร่กระจายได้รวดเร็วมาก ทั้งสัตว์ยังไม่เคยสัมผัสเชื้อ และไม่มีวัคซีนซีโรไทป์นี้ใช้ในไทยและภูมิภาคแถบนี้ ส่วนอัตราการตายน่าจะอยู่ในระดับปานกลาง-น้อย เนื่องจากเคยมีรายงานที่รุนแรง ทำให้พบอัตราการตายได้ประมาณ 50% ชนิดสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อซีโรไทป์นี้คือ โค กระบือ และยังไม่มีรายงานการระบาดอย่างเป็นทางการในสุกร แพะ แกะ ในประเด็นนี้อาจเป็นได้จากคุณสมบัติของซีโรไทป์นี้เอง หรือแค่ว่าพื้นที่และเส้นทางการแพร่ระบาดที่ผ่านมายังไม่มีปัจจัยเหมาะสมให้เกิดการแพร่ระบาด อาจเป็นได้ว่ามีจำนวนประชากรแพะ แกะ สุกร น้อย แต่เมื่อระบาดเข้าสู่ทวีปเอเชียที่มีความแตกต่างกันออกไป ในแง่จำนวน และการกระจายตัวของชนิดสัตว์ เช่น อินเดียมีโคจำนวนมาก จีนมีสุกรจำนวนมาก ก็อาจเกิดโรคระบาดในสัตว์ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนก็เป็นได้ ส่วนผลกระทบที่สำคัญสุดคือ การกีดกันทางการค้า ประเทศส่วนใหญ่จะห้ามนำเข้าสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากพื้นที่หรือประเทศที่มีโรคนี้ ซึ่งภาพรวมทั้งหมดสรุปได้ว่าหากมีซีโรไทป์ SAT2 ระบาดขึ้นมา จะก่อให้เกิดผลกระทบในระดับสูงมาก ในแง่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ

โดยสรุปแม้ไทยยังมีความเสี่ยงน้อย แต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมปศุสัตว์ ก็ได้เตรียมพร้อมรับมือทั้งการป้องกัน และแก้ไข ไว้อย่างเข้มแข็ง ทั้งในระดับการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าประเทศ รวมถึงการเฝ้าระวัง สอบสวน หรือทำลายโรค รวมถึงผลิตวัคซีนป้องกันโรคในกรณีที่มีเชื้อหลุดรอดเข้ามาได้ เกษตรกรเองหากพบสัตว์แสดงอาการป่วย หรือเข้าข่ายต้องสงสัยตามนิยามโรคที่กล่าวมาด้านบน ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือติดต่อ Call center: 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application DLD 4.0 (แจ้งการเกิดโรคระบาด) ระหว่างนั้นให้แยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์ร่วมฝูง และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากฟาร์มโดยเด็ดขาด และที่สำคัญเหนืออื่นใดกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องก็ต้องห้ามลักลอบนำเข้าปศุสัตว์มีชีวิต หรือผลิตภัณฑ์โดยผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด หากทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน คราวนี้เห็นทีจะผ่านมรสุมลูกใหญ่ที่ตั้งเค้ารออยู่ได้อย่างแน่นอน…

ผู้เขียน     น.สพ. ยุทธ  เทียมสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บจก. เซ็นทรัลลิส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related News