“หมูเถื่อน” จรจัดย้ายฐานเข้าประเทศเพื่อนบ้าน ถอดรูปก่อนวกกลับไทย

ปัญหา “หมูเถื่อน” คุกคามผู้เลี้ยงหมูไทย ทำลายเศรษฐกิจชาติ คงเป็นซีรี่ส์ที่ต้องฝากรัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลชุดใหม่ ช่วยพิจารณาหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำซากและลากยาวมากกว่า 1 ปี เช่นขณะนี้ ทั้งที่ตัดไฟได้ตั้งแต่ต้นทางนำเข้าที่มีขบวนการตรวจสอบทั้งเจ้าหน้าที่มากประสบการณ์และเทคโนโลยีทันสมัยจากเครื่อง X-ray ช่วยส่องสินค้าผิดกฎหมายในตู้คอนเทนเนอร์เป็นตัวช่วยสำคัญ แต่ก็ยังเห็นหมูเถื่อนป่วนเมืองไม่ขาดสาย
ประวัติหมูเถื่อนในไทยโดยสังเขป เริ่มขึ้นหลังกรมปศุสัตว์ประกาศพบโรคระบาด ASF เมื่อต้นปี 2565 ดันราคาหมูไทยพุ่งสูงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในเวลาหนึ่งเดือน ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มทะยานจาก 65-70 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นไปยืนแข็งที่ 110-120 บาทต่อกิโลกรัม อยู่หลายเดือน และจากความร่วมมือของผู้เลี้ยงหมูประเทศรักษาระดับราคาที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อช่วยผู้บริโภคจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันราคาเหลือประมาณ 68-70 บาท เป็นการกลับไปยืนที่เดิม
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังคงยืนยันว่า “หมูเถื่อน” คือ “ตัวการ” สำคัญที่ทำลายห่วงโซ่การผลิตหมูและกลไกราคาของไทยจากความได้เปรียบด้านต้นทุน หมูเถื่อนจากยุโรป บราซิล เม็กซิโก และสหรัฐฯ ราคาหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม บวกรวมค่าขนส่งแล้วถึงไทยราคาประมาณ 70-75 บาท เห็นกำไรจากส่วนต่างชัดเจน..เหล่าร้ายจึงลงมือไม่ยั้ง
ที่น่าแปลก คือ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้รับการชี้เป้าจากสมาคมฯ ตั้งแต่ปัญหาเริ่มตั้งไข่ ว่า “ท่าเรือแหลมฉบัง” เป็นทางเข้าหลักของเนื้อสัตว์ผิดกฎหมายเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายและของกลางได้ในพื้นที่อารักขาของตนเองแม้แต่ครั้งเดียว ให้สงสัยว่าสินค้าผ่านการตรวจปล่อยออกจากท่าเรือได้อย่างไร เมื่อหมูเถื่อนอาละวาดหนักกดราคาในตลาดให้ต่ำจนหมูไทยแข่งขันไม่ได้เพราะต้นทุนสูงกว่า แต่เทียบชั้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยแล้วหมูไทยเหนือกว่าหมูเถื่อนทั้งปราศจากโรคระบาด ASF, ไร้สารปนเปื้อนและสารเร่งเนื้อแดงตามมาตรฐานที่เคร่งครัดของกรมปศุสัตว์
เมื่อมาตรการตรวจค้นภายในท่าเรือฯ กำจัด “หมูเถื่อน” ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตั้งด่านตรวจค้นและดักจับบริเวณประตูทางออกท่าเรือฯ แทน ทำให้ที่เคยจับได้บ้างก่อนหน้าเป็นไม่มี เหมือนหมูเถื่อนไหวตัว หายหน้าไปไม่นานก็ไปถูกจับกุมอีกครั้งตามแนวตะเข็บชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สระแก้ว มุกดาหาร อุบลราชธานี และสงขลา หรือมีการส่งสัญญาณกลเม็ดให้ Re-export ย้ายฐานจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้านทั้ง กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย แล้วศัลยกรรมเปลี่ยนหน้าจากรูปแบบหมูกล่อง เป็นหมูชิ้นหรือหมูบดในถุงพลาสติก เพื่อความคล่องตัวในการวกกลับเข้าไทยอีกครั้ง แต่ไม่อาจรอดพ้นสายตาทหารและตำรวจตระเวนชายแดนไปได้
เมื่อปี 2565 กรมศุลกากร นำทีมหน่วยงานภาครัฐทั้งกรมปศุสัตว์และตำรวจ ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาคร ที่รับฝากหมูเถื่อนล็อตใหญ่เกือบ 90,000 กิโลกรัม โดยสำแดงเท็จเป็นโพลีเมอร์ เป็นกรณีที่น่าสนใจมากโพลีเมอร์กับหมูเถื่อน กรมศุลกากรควรใช้สุนัขบีเกิลที่จมูกไวกว่าคนมาดมกลิ่นตรวจสอบสินค้าผิดกฎหมายแทนเครื่อง X-ray เพราะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มหาศาล แต่ประสิทธิภาพสูงกว่ามาก ที่ผ่านมาสุนัขบีเกิลโชว์ผลงานจับกุมหมูยอที่มากับนักท่องเที่ยวได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ปี 2566 มีเรื่องน่าสนใจ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจดักจับหมูเถื่อนในรถคอนเทนเนอร์ได้ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งลากมาจากปาดังเบซาร์ ผ่านการตรวจปล่อยโดยด่านศุลกากร มาได้อย่างไร??? และล่าสุดกรมศุลกากรแถลงข่าวประกาศผลงานครึ่งปีงบประมาณ 2566 หนึ่งในนั้นเป็นงานจับหมูเถื่อน 450,000 กิโลกรัม มูลค่ามากกว่า 225 ล้านบาท จัดเก็บรอสำแดงเท็จอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ ที่ถูกจับตามากเป็นพิเศษคือส่งมอบให้กรมปศุสัตว์นำไปทำลายเพียง 13 ตู้
ถึงขณะนี้ สังคมน่าจะมีข้อมูลในการพิจารณาได้ว่าเหตุใด “หมูเถื่อน” จึงปราบปรามไม่สิ้นซาก แต่ยังวนเวียนหาประโยชน์อยู่ในไทยไม่หายไปไหน จนถึงวันนี้ผู้เลี้ยงหมูไทยแบกภาระขาดทุนเพราะต้นทุนผลิตเฉียด 100 บาทต่อกิโลกรัม แต่ขายได้ 68-70 บาทเท่านั้น ช่วงที่เกิดโรคระบาดเกษตรกรแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ถึงวันนี้เพียงหวังแค่ขายของได้กำไรเพียงเล็กน้อยหล่อเลี้ยงกิจการให้อยู่รอดและเลี้ยงดูคนในครอบครัว เพียงขอให้ภาครัฐจริงจังและจริงใจปราบปรามด้วยความโปรงใสและกำหนดเป้าหมายกำจัดหมูเถื่อนให้ชัดเจนเท่านั้น ก็จะช่วยต่อลมหายใจของเกษตรกรได้.
โดย พบพระ เกศสุข ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์