ราคาหมูที่เป็นธรรม เริ่มจากเข้าใจกลไกตลาด

การที่สมาคมผู้เลี้ยงสกรแห่งชาติประกาศราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 ที่กิโลกรัมละ 88 บาท เท่ากันทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ใต้ ตะวันออก หรือภาคตะวันตก

หากมองย้อนกลับไป จะพบว่า ราคานี้ยังเพิ่ง “พออยู่ได้” เท่านั้น หลังจากเกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปีเต็ม จากการระบาดของไรค ASF ที่ทำลายระบบการเลี้ยงและเป็นสิ่งที่เกษตรกรจำต้องลงทุนเพิ่มในการป้องกันโรค ผ่านมาตรการไบโอซีเคียวริตี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ต้นทุนที่น้อยเลย

สถานการณ์ช้ำเติมยิ่งกว่านั้นคือ การลักลอบนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย หรือ หมูเถื่อน ที่แฝงเข้ามาขายในราคาถูก ทำลายกลไกตลาดหมูย่อยยับ ส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำลงอย่างมาก ทั้งที่ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตทุกประเภทแพงขึ้นตลอดเวลา

ตลอดปี 2566-2567 ฟาร์มหลายแห่ง โดยเฉพาะรายย่อย ต้องยุติการเลี้ยงเพราะขาดทุนต่อเนื่อง ส่วนฟาร์มขนาดกลางก็ต้องลดแม่พันธุ์ลงถึง 40-50% เพื่อพยุงตัวให้อยู่รอดให้ได้ในสถานการณ์อันหนักอึ้ง และที่หนักที่สุดคือช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 ที่ผู้เลี้ยงขาดทุนสูงสุดถึง 3,600 บาทต่อตัว

นอกจากเรื่องตันทุนและเรื่องโรคแล้ว เกษตรกรยังต้องเจอกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน หมูโตช้าลง น้ำหนักไม่ถึงเป้า ต้องใช้เวลาการเลี้ยงนานขึ้น ซึ่งก็คือ “ต้นทุนเพิ่ม” อีกทาง ขณะที่การป้องกันโรคก็ยังต้องทำอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน

ราคาหมูหน้าฟาร์มที่เพิ่งขึ้นมาในตอนนี้ ทำให้ผู้เลี้ยงเริ่มมีกำไรเล็กน้อย และถือว่า เพิ่งจะ “พันช่วงขาดทุน” มาได้แค่ราวหนึ่งเดือนเท่านั้น ยังห่างไกลจากคำว่า “ได้กำไรดี” อย่างที่คนเข้าใจ

สิ่งสำคัญคือ ราคาที่เห็นในตลาด ไม่ได้เกิดจากการตั้งขึ้นเองโดยผู้เลี้ยง แต่เป็นผลจากกลไก
ตลาดที่ปรับตามปริมาณการผลิต ความต้องการบริโภค และต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเป็นระบบที่สร้างสมดุลให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ในปี 2568 นี้ ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศควบคุม จำนวนแม่พันธุ์ให้อยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านตัว คาดว่าจะมีสุกรขุนออกสู่ตลาดราว 21-23 ล้านตัว ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภคทั้งปี

สำหรับราคาขายปลีกปัจจุบัน เนื้อสะโพกและหัวไหลในห้างค้าปลีกอยู่ที่ประมาณ 143 บาท/
กิโลกรัม ส่วนในตลาดสดจะสูงกว่าเล็กน้อยที่ 150 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับราคาที่ถือว่าสมเหตุสมผลและไม่เป็นภาระต่อผู้บริโภคมากเกินไป

ในระยะยาว หากภาครัฐยังคงใช้นโยบายควบคุมราคาโดยไม่พิจารณาปัจจัยต้นทุนที่แท้จริง อาจส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตทั้งห่วงโซ่ และทำให้ผู้เลี้ยงท้อถอย จนไม่สามารถเดินหน้าผลิตเนื้อหมูป้อนตลาดได้อย่างมั่นคง

แนวทางที่จะควรเป็นคือ การปล่อยให้ กลไกตลาดทำงานอย่างอิสระและโปร่งใส พร้อมกับการสนับสนุนเกษตรกรในด้านอื่น ๆ เช่น ลดต้นทุน หรือสนับสนนเทคโนโลยีการเลี้ยง เพื่อให้ทุกภาคส่วนอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

โดย : กัญจาฤก แว่นแก้ว นักวิชาการด้านปศุสัตว์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related News