ปริศนา…บริษัทส่งออกปลาหมอคางดำ ต้องตรวจสอบให้กระจ่าง

การส่งออก “ปลาหมอคางดำ” ถือเป็นประเด็นที่สังคมยังไม่สิ้นสงสัย เพราะที่ผ่านมา 11 บริษัทส่งออก อ้างว่า เจ้าหน้าที่ชิปปิ้ง กรอกข้อมูลชื่อปลาผิด โดยมีเอกสารบางส่วนมาแสดงกับคณะกรรมาธิการฯ สอดคล้องกับกรมประมงที่ อ้างว่า ตรวจสอบแล้วเป็นการกรอกชื่อผิดเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่า ปลาที่ส่งออกเป็นปลาชนิดใดกันแน่ แม้ชื่อภาษาไทยอาจถูกเปลี่ยนหลายครั้งจาก ปลานิลในปี 2549 มาเป็นปลาหมอเทศข้างลาย ในปี 2553 ก่อนเปลี่ยนเป็น ปลาหมอคางดำ ในปี 2560 แต่การส่งออกที่ต้องระบุชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญของปลานั้น กลับระบุเป็น ชื่อ Sarotherodon melanotheron และ Blackchin tilapia ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญ ของปลาหมอคางดำทุกครั้ง
ตลอดระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2556-2559) ชิปปิ้งยังคงกรอกผิดทุกครั้ง ทุกรอบการส่งออก ครบทุกบริษัทที่ส่งออก โดยไม่เคยได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องสักครั้ง และข้อมูลยังถูกนำเผยแพร่บนเว็ปไซต์ของกรมประมง จึงเกิดคำถามว่า ปล่อยให้ผิดพลาดเช่นนี้ได้อย่างไร ปริมาณที่ส่งออกไปกว่า 320,000 ตัว ไม่ใช่น้อยๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบเคยตั้งข้อสงสัยหรือไม่ ว่า เอาปลามาจากที่ไหน เพาะเลี้ยงที่ใด มีระบบการดูแลจัดการป้องกันไม่ให้ปลาหลุดออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือไม่ และปล่อยให้ส่งออกไปได้อย่างไร
ที่สำคัญเมื่อเลิกส่งออกแล้ว จัดการทำลายปลาเหล่านี้อย่างถูกต้องหรือไม่ รวมถึง พรก.ประมง ปี 2558 ที่ระบุว่า ต้องแจ้งแหล่งที่มาของปลาส่งออก ก็เกิดคำถามว่า บริษัทได้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือไม่ ถ้าไม่ได้แจ้งแล้วส่งออกไปได้อย่างไร
จึงเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า เหตุใด จึงไม่มีการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าปลาต่างถิ่นมาเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงามส่งออกเลย ทั้งๆ ที่มีโอกาสเป็นสาเหตุของปัญหาปลาหมอคางดำเช่นกัน เพราะหากเชื่อว่า มีการกรอกชื่อผิดเพื่อส่งออก ก็มีโอกาสหลบเลี่ยงนำเข้าโดยชื่ออื่นด้วยก็ได้ ซึ่งการลักลอบนำเข้าปลาต่างถิ่น ถือเป็นปัญหาที่มีอยู่ และยังไม่ได้รับการแก้ไข ยืนยันได้จากรายงานการพบ ปลาหมอบัตเตอร์ ในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปลาชนิดนี้เป็นหนึ่งในพันธุ์ปลาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเป็น สัตว์นำห้ามนำเข้า ส่งออก หรือ เพาะเลี้ยง มาตั้งแต่ปี2561 นี่คือตัวอย่างของปลาต่างถิ่นห้ามเพาะเลี้ยง ที่ไม่มีรายงานการนำเข้า แต่กำลังสร้างปัญหารุกรานระบบนิเวศเช่นกัน
ถึงแม้ทั้ง 11 บริษัท ปฏิเสธว่า ไม่มีการส่งออกปลาหมอคางดำ แต่ก็จำเป็นต้องหาข้อพิสูจน์ให้สังคมสิ้นสงสัยว่า ไม่เกี่ยวข้องอย่างไร นำปลาที่ส่งออกเหล่านั้นมาจากที่ใด รวมถึงขอความร่วมมือจากประเทศปลายทาง เพื่อยืนยันว่า ปลาที่ได้รับเป็นชนิดใด ใช้ปลาหมอคางดำหรือไม่ แหล่งที่มาหรือสถานที่เพาะเลี้ยงปลาเพื่อการส่งออกเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ตัวแทน 5 บริษัท เข้าพบคณะกรรมธิการแล้วแจ้งว่า กรอกชื่อผิด เพียงเท่านี้ก็เชื่อคำชี้แจง โดยไร้การพิสูจน์ใดๆ ต่างจากบริษัทเอกชนที่ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องที่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกประเด็น
ขณะที่ กรมประมง ไม่พยายามตรวจสอบผู้ส่งออกทั้ง 11 บริษัทเลย ทั้งที่เต็มไปด้วยข้อสงสัยที่ยังไม่กระจ่าง ซึ่งการปล่อยให้เป็นเช่นนี้ แล้วพุ่งประเด็นหาต้นตอไปที่บริษัทเอกชนเป็นหลัก ก็อาจอนุมานได้ว่า เป็นการปกปิดจุดบกพร่องในกระบวนการทำงาน ทั้งการป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นมาเลี้ยงหรือค้าขาย โดยเฉพาะในตลาดปลาสวยงาม ที่อาจจับมือใครดมได้ยาก รวมถึงข้อบกพร่องในแง่ของการไม่ปฏิบัติตาม พรก.ประมง 2558 เพราะหากบริษัทไม่ได้แจ้งที่มาของสัตว์น้ำ กรมประมงก็ไม่ควรอนุญาตให้ส่งออก หรือการกรอกข้อมูลผิดตลอด 4 ปี ที่แสดงว่า เอกสารขออนุญาตส่งออก กับเอกสารกำกับสินค้าไม่ตรงกัน ถือเป็นการทำเอกสารไม่ถูกต้อง และมีความผิดด้วย ดังนั้นเรื่องการส่งออกปลานี้จะต้องนำมาศึกษาและหาหลักฐานเพื่อยืนยันร่วมด้วยเช่นกัน
ข้อพิรุธ ปริศนา และความสงสัยเหล่านี้ จะหมดไปก็ต่อเมื่อ ผู้ส่งออกปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงามทั้ง 11 บริษัท ได้รับการตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดเท่านั้น เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานและเป็นใบเบิกทางไปสู่การแก้ปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานระบบนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไป…