กรมศุลฯ เร่งแก้ปัญหาหมูเถื่อน ปรับโปรไฟล์อาหารแช่แข็งเข้าโหมด RED LINE ทั้งหมด

นายพชร อนันต์ศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้เชิญตัวแทนกลุ่มผู้เรียกร้องแก้ปัญหาหมูเถื่อน จากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกว่า 1,000 คน เข้าร่วมหารือแนวทางแก้ไข โดยมีประเด็นสำคัญที่จะเป็นจุดเปลี่ยน ที่เป็นประโยชน์ และแก้ปัญหาอย่างตรงจุดต่ออุตสาหกรรมสุกรในประเทศ จากการร้องเรียนของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ได้แก่ ประกาศกรมศุลกากรที่ 174/2560 เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจของที่กำลังผ่านพิธีการ หรืออยู่ในอำนาจกำกับตรวจตราศุลกากร” ที่มีการให้อำนาจพนักงานศุลกากรตรวจของที่กำลังผ่านพิธีการในลักษณะไม่ต้องตรวจสอบประเภทพิกัด อัตราศุลกากร ราคา และชนิดของ ในลักษณะของการผ่านแบบ Green Line

ประเด็นดังกล่าวอธิบดี จะเร่งปรับโปรไฟล์กลุ่ม Frozen foods ให้เข้าระบบ Red line ทั้งหมด โดยอาจจะยกเว้นกลุ่มผู้นำเข้าที่มีประวัติการนำเข้า Frozen foods อย่างยาวนาน  ที่ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสีย

สำหรับประเด็นทั้งหมดที่ได้ข้อสรุปจากการประชุมร่วม ประกอบด้วย

1. เนื่องจากปัญหาหมูเถื่อนสร้างความเสียหายมาก ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ ความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงภายในประเทศ นโยบายใหม่ของกรมศุลกากร คือ ทุกการกระทำความผิดและมีตู้ตกค้าง คดีจะไม่จบที่กรมศุลกากร จะส่งต่อสำนักงานสอบสวนกลาง

2. ตู้เย็นคอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้  แยกเป็นสองส่วน กรณีที่ 1 คดีถึงที่สุดกรมศุลกากรจะส่งให้กรมปศุสัตว์ทำลาย กรณีที่ 2 ตามนโยบายใหม่ตู้ตกค้างที่เหลือจะส่งพนักงานสอบสวนของสำนักงานสอบสวนกลาง

3. เรื่องความโปร่งใส อธิบดีแจ้งว่าสบายใจได้ ทุกตู้เย็นคอนเทนเนอร์สินค้าสุกรลักลอบตกค้าง ปัจจุบันมีสถานะเป็น “ของกลาง” จะไม่หลุดรอดออกมา และการเป็นของกลาง คือ จะไปแตะต้องไม่ได้

4. การดำเนินการนำเข้าสินค้าแช่เย็น แช่แข็ง ในอนาคตจะต้องมีกระบวนการ ดำเนินการตาม ( SOP) เอสโอพี Standard Operation Procedures ใหม่ มีการรายงานข้อมูลเชิงสถิติในเว็บไซต์ของกรมศุลกากร เพื่อตรวจสอบได้ แบบอัพเดท

5. ตั้งตัวแทนประสานงานร่วมกันโดยคณะทำงานจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตัวแทนกรมศุลกากรตัวแทนกรมปศุสัตว์ ตัวแทนกรมการค้าภายใน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีเบอร์ติดต่อกันโดยตรงในการประสานงานแบบฉับพลันและต่อเนื่อง

6. กลุ่มสินค้า Frozen foods ต่อจากนี้จะต้องผ่านระบบ Red line เท่านั้น ไม่ผ่านระบบ Green Line เพื่อลดโอกาสที่จะหลุดลอด หรือ ทุจริต

7. การประสานงานต่อจากนี้ เรื่องนี้ ยกระดับขึ้นเป็นในระดับกรม ต่อ กรม โดยตรง โดยคณะทำงานชุดนี้ ไม่ใช่ระดับด่านหรือระดับจังหวัด เหมือนที่ผ่านมา

8. ตู้ทุกตู้ที่อายัดไว้สามารถดำเนินการตรวจสอบได้โดยคณะกรรมการสมาคมร่วมกับกรมศุลกากรส่วนกลาง

9. รายชื่อผู้นำเข้าที่เป็นคดีความ กรมไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ เนื่องจากกรมจะส่งคดีไปที่กรมสอบสวนกลาง การเปิดเผยได้หรือไม่อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่กรมสอบสวนกลาง

หลังการประชุมร่วมกรมศุลกากร คุณสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ประชุม กับ คุณนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม หัวหน้าคณะทำงาน และคณะทำงานของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในเรื่องของการนำข้อสรุปจากกรมศุลกากรมาดำเนินการเร่งด่วนให้ได้ประโยชน์สูงสุด ที่สามารถเปิดเผยได้ตอนนี้ คือ ยื่นเรื่องให้ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ ให้ผู้นำเข้าสินค้าเนื้อสุกรที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดจากกรมปศุสัตว์ ที่ทั้งสองหน่วยงานรัฐระบุว่าไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ จะต้องผ่านระบบ Red line เท่านั้น ไม่ให้ใช้ข้อยกเว้นประวัติการนำเข้าที่ดี มาใช้

โดยการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลช่วงเช้าตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อ คือ 1) เร่งปราบปรามกระบวนการหมูเถื่อน จะยึดถือตามการประชุมโดยตรงกับอธิบดีกรมศุลกากรในช่วงบ่าย เป็นหลัก 2) เร่งแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้ง 3 ประการ กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรขอให้กระทรวงพาณิชย์ให้คำตอบตามข้อเรียกร้องภายในสิ้นเดือน พฤษภาคม 2566 นี้ ประกอบด้วย

a. แก้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หน้าโรงงานอาหารสัตว์ และ ราคากากถั่วเหลืองเมล็ดนำเข้า ที่มีราคาสูงเกินจริง

b. ยกเลิกอากรขาเข้ากากถั่วเหลือง จาก 2% เป็น 0% เพื่อความเสมอภาค กับ ผู้นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองที่มีอาการขาเข้า 0%

c. ยกเลิกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักรฉบับที่ 3 พ.ศ 2565 เนื่องจากเป็นระเบียบที่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบเกินควร ส่อว่าจะมีการใช้อำนาจหน้าที่อันมิชอบ ในขณะที่เคยมีผู้ส่งออกข้าวสาลีในต่างประเทศร้อง WTO ว่าเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related News