จี้กรมศุลกากร หาฤกษ์ดีเปิดตู้ค้างหน้าท่าฯ ตรวจสอบ “หมูเถื่อน”

เกือบ 6 เดือนแล้ว ที่ข้อเรียกร้องของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ยังไม่ได้รับการตอบสนองจาก “กรมศุลกากร” ตามที่ได้ร่วมกันชี้เบาะแสช่องทางหลักการลักลอบนำ “หมูเถื่อน” จำนวนมากเข้ามาในราชอาณาจักร คือ “ท่าเรือแหลมฉบัง” และประเมินว่า 10% ของตู้คอนเทนเนอร์แบบตู้เย็นที่วางเรียงรายอยู่หน้าท่าเรือ จะมีหมูผิดกฎหมายที่มิจฉาชีพซุกซ่อนไว้เพื่อรอเวลา “ฟอกขาว” ให้เป็นสินค้าถูกกฎหมายก่อนลากตู้ออกไปส่งลูกค้าคนสำคัญ หรือ ไปพักรอที่ใหม่ตามห้องเย็นในจังหวัดต่างๆ เพื่อความสะดวกในการขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง
แม้ว่า “หมูเถื่อน” แช่แข็งในตู้คอนเทนเนอร์ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมจะยืดอายุการเก็บรักษาได้นานกว่า 1 ปี ก็ตาม ในฐานะผู้บริโภคคงไม่ต้องการรับประทาน “เนื้อหมูค้างปี” ที่ไม่มีโอกาสรู้ได้ว่าเนื้อหมูนั้นมีความปลอดภัยต่อสุขภาพเพียงไร เพราะไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานสุขอนามัยและสารปนเปื้อน จากกรมปศุสัตว์ ที่สำคัญหมูเถื่อนเหล่านี้ขายในราคาต่ำกว่าราคาหมูไทยมาก เกิดคำถามว่าทำไมหมูเถื่อนจึงขายต่ำกดดันราคาหมูไทย จึงเป็นไปได้สูงมากที่เป็นหมูติดโรคจากประเทศต้นทางและดั๊มพ์ขายในราคาถูก คนไม่รู้…อาจใส่ใจราคามากกว่าคุณภาพ แต่ขอยืนยันว่าหมูไทยปลอดภัยกว่าหมูเถื่อนแน่นอน
อีก 1 คำถามที่ฝากถึง กรมศุลกากร คือ กรมฯ ไม่มีกฎหมายใดๆ จัดการ หรือทำลายสินค้าที่ค้างท่าเรือมาเป็นแรมเดือน-แรมปี หรือ เรียกเจ้าของสินค้าที่ระบุชื่อในเอกสารนำเข้ามาเคลียร์สินค้าในตู้ฯ หากเป็นสินค้าอันตราย เช่น ขยะอิเลคทรอนิคส์ หรือ ขยะสารเคมีอันตราย รวมทั้งหมูเถื่อนที่อาจหมดอายุแล้ว จะได้จัดการได้ทันท่วงที ส่งกลับประเทศต้นทาง ไม่ใช่ปล่อยให้ค้างหน้าท่านานเท่าที่จะสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าระวางหน้าท่าได้ เพราะไทยไม่ใช่สถานที่ทิ้ง “ขยะพิษ” จากทั่วโลก
ตั้งแต่ประเทศไทยประกาศพบโรคระบาด ASF เมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 ราคาเนื้อหมูในประเทศปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ตามกลไกตลาด เนื่องจากอุปทาน (supply) หายไปประมาณ 50% ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขยับขึ้นสูงเกินกว่า 110 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้หมูเนื้อแดงราคาทะยานสูงกว่า 210 บาทต่อกิโลกรัม ช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐรักษาราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มไว้ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค
จนถึงช่วงต้นเดือนมกราคมปี 2566 ที่ผ่านมา ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มลดต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัมเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี เนื่องจากมีหมูเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบเข้าไทยจำนวนมากโดยเฉพาะทางชายแดนภาคใต้ ทำให้เกษตรกรเร่งจับหมูก่อนเวลาเพราะกลัวว่าราคาจะลดลงต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดจำนวนมาก ราคาจึงย่อตัวลงตามกลไกตลาด สวนทางกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผันผวนในระดับสูงและเกษตรกรยังต้องแบกภาระนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2564 โดยเฉพาะช่วงการเผชิญหน้าของรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% ตลอดจนต้นทุนพลังงานและปัจจัยการผลิตอื่นๆ ก็มีการปรับขึ้นอัตราเดียวกัน กลายเป็นทุกช์หนักไม่รู้จบของเกษตรกร
ถึงวันนี้ กรมศุลกากร ต้องบังคับใช้กฎหมายในมือให้มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ที่ค้างที่ท่าเรือนานเกินกำหนด เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ตามแนวทางการปราบปรามหมูเถื่อนอย่างเคร่งครัดและรัดกุม ไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้เลี้ยงและผู้บริโภค…ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบเป็นนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐ จึงขอให้กรมศุลกากร เร่งหา “ฤกษ์ดี” ในการตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัยอย่างเป็นทางการด้วยความรวดเร็ว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูซึ่งเป็น “คนไทย” ด้วยกัน ลืมตาอ้าปากสานต่อกิจการได้อย่างยั่งยืน./
โดย อาบอรุณ ธรรมทาน นักวิชาการอิสระ