“วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์” สถาบันเกษตรกรดีเด่นด้านปศุสัตว์ปี 65

การคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรด้านปศุสัตว์ประจำปี 2565  จะได้รับรางวัลโล่พระราชทาน  ประเภทกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ คือ  วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์  ประวัติสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ (กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์) เลขที่ 25 หมู่ที่ 6 ตำบลป่าเลา อำเภอเมือง  จังหวัดเพชรบูรณ์  จัดตั้งกลุ่มเมื่อ พ.ศ.2557  สมาชิกแรกตั้ง  จำนวน  15  คน  สมาชิกปัจจุบัน  จำนวน  37  คน ประธานกลุ่ม  นายชวน  ขุมทรัพย์  โทร. 064 353 0159

ความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงานของกลุ่มว่า  เดิมในพื้นที่ป่าเลามีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะหลายราย ลักษณะการเลี้ยงเป็นแบบต่างคนต่างเลี้ยง ไม่มีการรวมกลุ่ม ต่อมา นายชวน ขุมทรัพย์ ได้ชักชวนเพื่อนเกษตรกรรวมกลุ่มแต่ยังเป็นลักษณะการเลี้ยงแบบต่างคนต่างเลี้ยงต่างคนต่างขาย การรวมกลุ่มในช่วงแรกประสบปัญหาราคาที่ไม่แน่นอนและมีปัญหาด้านสุขภาพแพะ 

ต่อมาจัดตั้งกลุ่มเป็นกลุ่มธรรมชาติเพื่อขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ สามารถแก้ปัญหาได้บางส่วนแต่ยังพบปัญหาด้านการขายแพะ เนื่องจากพ่อค้าให้ราคาไม่เท่ากันทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงหลายราย  และได้รับคำแนะนำจากปศุสัตว์อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ให้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์  1 มกราคม 2557  จึงขึ้นทะเบียนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์  โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแกะตำบลป่าเลา”  มีสมาชิกเริ่มต้น 15  ราย  โดยมี นายชวน ขุมทรัพย์ เป็นประธาน

หลังจากนั้น สมาชิกได้เข้ารับการอบรมการเลี้ยงแพะ ได้เรียนรู้ด้านการจัดการฟาร์ม ทำให้สมาชิกปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงแพะและขายแพะได้ราคาสูงขึ้น การอบรมทำให้สมาชิกทราบว่าสิ่งสำคัญ ในการเลี้ยงแพะ คือ การทำฟาร์มให้ปลอดจากโรคบรูเซลลา ต่อมาปศุสัตว์อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ได้เข้ามาให้ความรู้และทดสอบโรคเพื่อทำฟาร์มปลอดโรคให้สมาชิกกลุ่ม จนสมาชิกได้เป็นฟาร์มปลอดโรค ทำให้พ่อค้า มีความมั่นใจมากขึ้น 

ปี 2562  ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมือง”  จากเดิมกลุ่มเลี้ยงแพะโดยใช้หญ้าธรรมชาติ  เมื่อสมาชิกมีความรู้จากการอบรมจึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชอาหารสัตว์ใช้เอง ทำให้หญ้าที่ใช้เลี้ยงแพะมีคุณภาพดี มีแหล่งขายแพะที่มั่นคงยั่งยืน ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงแพะมีรายได้เพิ่มขึ้นและเป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน

ความสามารถในการบริหารจัดการสถาบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีสมาชิก 37 ราย  ส่วนความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งและยั่งยืนดำเนินการ ในหลายด้าน เริ่มตั้งแต่  การบริหารองค์กร มีการจัดตั้งคณะกรรมการและมีหน้าที่ ดังนี้ 1) ประธานกรรมการ มีบทบาทหน้าที่เป็นประธาน

ในที่ประชุม เรียกประชุมตามความจำเป็น เป็นผู้ใกล้ชิดสมาชิก รู้ปัญหา และความต้องการของกลุ่ม 2) รองประธาน มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานและผลของการปฏิบัติงานของคณะกรรมการแต่ละฝ่ายที่ตนกำกับดูแลร่วมกับประธานปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน เมื่อประธานไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ 3) เลขานุการ มีบาทบาทหน้าที่รับผิดชอบ

ต่องานเอกสารของกลุ่มทั้งหมด (ยกเว้นเอกสารการเงินการบัญชี) และมีหน้าที่จัดทำรายงานการประชุม 4) เหรัญญิก มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบต่อระบบบัญชีและการเงินของกลุ่มทั้งหมด เป็นผู้บริหารระบบการเงินการบัญชี ผู้ลงนามในเอกสารการเงินสำคัญ สัญญา และทำหน้าที่ตามที่ประธานมอบหมาย 5) ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่รับผิดชอบภาพลักษณ์

และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกลุ่ม 6) กรรมการ เข้าร่วมประชุมของกลุ่ม เสนอความคิดเห็น เป็นตัวแทนสมาชิกเพื่อการพัฒนากลุ่ม

การเลี้ยงแพะของกลุ่ม สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เลี้ยงแพะ 3 ประเภท ดังนี้ 1) เลี้ยงผลิตลูก โดยจะขายให้กับสมาชิกกลุ่มเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นแพะขุน 2) เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ เนื่องจากกลุ่มมีสมาชิก

เข้าใหม่หลายรายต้องการพ่อ-แม่พันธุ์ เพื่อขยายฟาร์มและสมาชิกรายเดิมที่ต้องการเปลี่ยนพ่อ-แม่พันธุ์หากซื้อแพะจากภายนอกไม่มั่นใจว่าแพะที่ซื้อเข้ามาปลอดโรคเหมือนกับของสมาชิกภายในกลุ่ม เนื่องจากแพะของสมาชิก กลุ่มทุกฟาร์ม ต้องทำการทดสอบโรคบรูเซลลา ทำให้มั่นใจว่าแพะปลอดโรคแน่นอน 3) เลี้ยงแพะขุน สมาชิกกลุ่มส่วนหนึ่งจะเลี้ยงแพะขุนโดยคัดจากลูกแพะหย่านมในฟาร์มและซื้อจากสมาชิกกลุ่ม

การแบ่งงานตามธุรกิจ เพื่อลดช่องว่างและการทำงานที่ซ้ำซ้อน กลุ่มเกษตรกรมีการแบ่งแยกหน้าที่ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานและการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ชัดเจนและเหมาะสอดคล้องกับนโยบายและมีทิศทางในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและเป็นเครื่องมือในการควบคุมติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของกลุ่มเกษตรกร ดังนี้ 1) พันธุ์แพะ สมาชิกกลุ่มเลี้ยงแพะลูกผสมพันธุ์บอร์ เป็นแพะเนื้อขนาดใหญ่ ลักษณะเด่น คือ มีลำตัวสีขาว หัวและคอจะมีสีแดง ใบหูยาวปรก เมื่อหย่านมให้น้ำหนักดี มีการเปลี่ยนพ่อพันธุ์ทุก 1 ปี และสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปฟาร์มของสมาชิกเพื่อป้องกันการผสมเลือดชิดทำให้ลดต้นทุนในการจัดซื้อพ่อพันธุ์ตัวใหม่

2) การจัดการด้านอาหาร เริ่มจาก พ่อ-แม่พันธุ์ เลี้ยงแบบปล่อยลงแปลงหญ้าผสมกับการขังคอก โดยข้อดีของการเลี้ยงแบบปล่อย คือ สามารถใช้ประโยชน์จากหญ้าที่สมาชิกปลูกและจากหญ้าที่ขึ้นตามธรรมชาติ แพะได้ออกกำลังกายเสริมด้วยข้าวโพดหมัก หญ้าแพงโกล่า ผิวถั่วเหลืองและข้าวโพดบด เพื่อให้แพะได้รับสารอาหารครบถ้วน ส่วนลูกแพะ ลูกแพะจะเลี้ยงอยู่กับแม่แพะ เพื่อให้ลูกแพะได้กินนมน้ำเหลือง เสริมด้วยข้าวโพดหมักหญ้าแพงโกล่า ผิวถั่วเหลือง จนอายุ 3 เดือน จะหย่านมและจะคัดแพะไว้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ ในฟาร์ม ขณะที่แพะขุนและแพะเพศเมียที่คัดไว้ทำพันธุ์เลี้ยงด้วยหญ้าแพงโกล่า ข้าวโพดหมัก กระถิน ผิวถั่วเหลืองเสริมด้วยอาหารข้น ส่วนการให้หญ้า ใช้หญ้าเนเปียร์ตัดสดให้กิน โดยการนำมาหั่น ส่วนหญ้าแพงโกล่าตัดสดให้กินและทำเป็นหญ้าแห้ง (ไม่อัดฟ่อน) นำมาใส่รางให้แพะกิน หลังจากหย่านม แพะเพศผู้จะนำมาขุนเป็นเวลา 90 วัน ก่อนขุนน้ำหนัก 2 กิโลกรัม หลังขุนน้ำหนัก 22-25 กิโลกรัม

3) การจัดการฟาร์มและการป้องกันโรค ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย สมาชิกกลุ่มได้รับรองเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ทุกฟาร์ม จึงมีระบบการป้องกันโรค เช่น มีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์มด้วยน้ำยาคลอรีน กลูตาราลดีไฮล์ มีรั้วรอบบริเวณฟาร์มห้ามสัตว์เลี้ยงเข้าและมีที่เก็บอาหารที่เหมาะสม ส่วนการให้น้ำสมาชิกเน้นให้น้ำจากบ่อบาดาลไม่ให้น้ำที่ได้มาจากสระ เนื่องจากจะปลอดภัยจากโรคพยาธิ โดยมีน้ำให้กินตลอดเวลา ขณะเดียวกันมีการใช้สมุนไพร มีการเสริมด้วยบอระเพ็ดและเกลือผสมน้ำสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ ยาบำรุงอาหาร ลดไข้รักษาโรคผิวหนัง

4) การตลาด ราคารับซื้อขายแพะ น้ำหนัก 15-20 กิโลกรัมละ 100 บาท น้ำหนัก 20-30 กิโลกรัมละ 90 บาท น้ำหนัก 30-40 กิโลกรัมละ 80 บาท อายุ 1 ปี ขึ้นไป (แพะปลด) ตัวผู้กิโลกรัมละ 70 บาท ตัวเมียกิโลกรัมละ 60 บาท ลูกแพะหย่านมชั่งกิโลขายตามราคาที่กำหนด พ่อ-แม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ราคาตัวละ 20,000 บาท แม่พันธุ์ราคาตัวละ 5,000 บาท ส่วนแพะขุนสมาชิกกลุ่มจะนำมาขายที่คอกกลางของกลุ่ม โดยการชั่งน้ำหนักหน้าฟาร์ม ทำให้สมาชิกมีตลาดและราคาที่แน่นอน

5) เครือข่ายแพะ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะตำบลน้ำมวบ จังหวัดน่าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะ อำเภอเมือง จังหวัดเลย เข้ามาศึกษาดูงานการเลี้ยงแพะซื้อแพะจากกลุ่มกลับไปเลี้ยงและนำกลับมาขายให้กลุ่มบริษัท ชาคาน ฟาร์มแพะ จำกัด (เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ) เป็นผู้รับซื้อแพะจากกลุ่ม และเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแห่งประเทศไทย อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐมเป็นผู้รับซื้อจากกลุ่ม

ด้านบทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ มีความสามารถในการจัดการบริหารกลุ่มให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน มีคณะกรรมการบริหาร แบ่งหน้าที่ มีระเบียบข้อบังคับกลุ่มที่ชัดเจน มีการประชุมทุกวันที่ 5 ของเดือน แจ้งข่าวสารรวมถึงปัญหาอุปสรรคในการเลี้ยงแพะของสมาชิกเพื่อหาแนวทางแก้ไขประชุมคณะกรรมการกลุ่มผ่านระบบ Application Line หรือมีการแจ้งข้อมูลข่าวสารผ่านทาง Line ทำให้ทราบความเคลื่อนไหวของสมาชิก

1) กิจกรรมการป้องกันโรค การทดสอบโรคบรูเซลลา เพื่อยกระดับฟาร์มปศุสัตว์สำหรับเกษตรกรรายย่อย ปัจจุบันมีฟาร์มปลอดโรคบรูเซลลา ระดับ A จำนวน 8 ฟาร์ม และระดับ B จำนวน 15 ฟาร์ม การป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย กลุ่มรับวัคซีนจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองเพชรบูรณ์และนำมาฉีดให้กับสมาชิก 2) ด้านความรู้ สมาชิกเข้ารับการอบรมเพิ่มความรู้และทักษะการเลี้ยงสัตว์ ร่วมงานแพะแห่งชาติกลุ่มฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับเขตและเข้าร่วมประชุมเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเลี้ยงแพะ 3) การออมเงิน สมาชิกกลุ่มออมเงินเดือนละ 100 บาท 4) ด้านการบริการเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัวหรือในการเลี้ยงแพะ โดยให้กู้เงินรายละไม่เกิน 5,000 บาท 5) ด้านการขายแพะร่วมกันในราคาเดียวกันกลุ่มจะใช้หลักการซื้อร่วมกัน ขายร่วมกันราคาเดียวกัน เพื่อเป็นอำนาจต่อรองกับพ่อค้า กลุ่มจะผลิตแพะตามน้ำหนักที่พ่อค้าต้องการทำให้สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อค้าที่รับซื้อ การขายจะนำแพะขุนมารวมที่คอกกลาง พ่อค้ารับซื้อแพะครั้งละ 200 ตัว ทั้งนี้ มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการตลาดกับเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย

6) ด้านการแลกเปลี่ยนพ่อพันธุ์แพะ แลกเปลี่ยนพ่อพันธุ์ภายในกลุ่มตามหลักวิชาการเพื่อลดปัญหาเลือดชิดและประหยัดเงินในการจัดหาพ่อพันธุ์เข้ามาใหม่ 7) ด้านการซื้อขายพ่อ-แม่พันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ของสมาชิกในกลุ่ม หากสมาชิกสนใจกันเอง จะขายในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดถือว่าเป็นการลดต้นทุนการผลิตของสมาชิก 8) การผลิตอาหารสัตว์ การทำข้าวโพดหมัก โดยการทำข้อตกลงกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด (นำมาหั่นและหมัก 15-21 วัน) และจำหน่ายให้สมาชิก 9) โครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะจังหวัดเพชรบูรณ์ งบพัฒนาจังหวัด พ.ศ. 2558 ได้รับแม่พันธุ์จำนวน 20 ตัว พ่อพันธุ์ จำนวน 2 ตัว เงื่อนไขโครงการคือ นำแพะมาสนับสนุนให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ขยายลูกให้กับสมาชิกกลุ่มรายอื่นเลี้ยงต่อไป 10) ด้านเป็นแหล่งศึกษาดูงาน ร่วมกันจัดทำแหล่งเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับเกษตรกรผู้สนใจอาชีพการเลี้ยงแพะ โดยมี นายชวน ขุมทรัพย์ ประธาน และสมาชิกร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้ผู้สนใจ

ด้านความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน  ระบบบัญชี มีการจัดทำบัญชีของกลุ่ม   บัญชีเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงิน  บัญชีซื้อขายแพะ กลุ่มดำเนินการแยกบัญชีซื้อ-ขายแพะ บัญชีเงินส่งเงินกู้ และบัญชีควบคุมเงินออมทรัพย์   การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้  โดยการทำอาหารสัตว์คุณภาพใช้เอง  การสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เพื่อนำมาทำเป็นข้าวโพดหมัก  กองทุนมูลแพะ 

การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทำเครื่องปั๊มน้ำรดแปลงหญ้า เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานโดยไม่ใช้น้ำมันเป็นการลดต้นทุนการผลิต และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม  บริจาคมูลแพะเพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงดินให้กับต้นไม้ภายในวัด  ร่วมกิจกรรมของชุมชน โดยสมาชิกกลุ่มร่วมทำบุญ ณ วัดป่าศรีถาวร  จังหวัดเพชรบูรณ์  ร่วมกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ สมาชิกกลุ่มร่วมกันเก็บเศษกิ่งไม้ที่เกิดจากอุทกภัยในหมู่บ้าน  ร่วมปลูกป่าชุมชน สมาชิกกลุ่มร่วมกันปลูกป่าบริเวณเส้นทางบายพาส 

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี  กรมปศุสัตว์  โทร. 0 – 2653 – 4444  ต่อ 2271

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related News