“หมูเถื่อน” ตัวการทำลายธุรกิจสุกรและความมั่นคงอาหารไทย
จากเป้าหมาย Zero ASF ของกรมปศุสัตว์ ลั่นจัดการหมูเถื่อนลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายเป็นพาหะนำโรค พร้อมปกป้องเกษตรกร สร้างความเป็นธรรมและความมั่นใจ ส่งเสริมผู้เลี้ยงกลับเข้าเลี้ยงใหม่โดยเร็ว ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ-เกษตรกรทั่วประเทศ ชื่นชม กรมปศุสัตว์ เอาจริงปราบปรามหมูเถื่อนต่อเนื่อง ขอเร่งจัดการให้สิ้นซาก ตัดตอนขบวนการโดยเร็ว หวั่น ASF ปนเปื้อนแพร่ระบาดในไทย กระทบผู้เลี้ยงที่เพิ่งกลับเข้าเลี้ยง ขณะที่นักวิชาการ ชี้ “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้าเป็นภัยร้ายทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะอนาคตของเกษตรกรรายย่อย เสี่ยงเป็นพาหะนำโรค ASF เข้ามาระบาดซ้ำ บั่นทอนห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศ และสร้างปัจจัยเสี่ยงในการบริโภคอาหารของคนไทย ย้ำต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและภาพลักษณ์หมูไทยให้เป็นที่ยอมรับ ด้านความปลอดภัยตามแนวทางหลักสู่การเป็น “ครัวของโลก”
นับตั้งแต่11 มกราคม 2565 เป็นวันที่กรมปศุสัตว์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าพบโรคระบาดในสุกร ASF (African Swine Fever) ที่โรงชำแหละหมูในจังหวัดนครปฐม นับเป็นการยอมรับโดยดุษฎีกับคนไทยเป็นครั้งแรกว่าเราประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคนี้จริง ทั้งที่ผ่านมาภาครัฐยืนยันหนักมาเป็นแรมปีว่าโรคนี้ “ไม่มี ไม่พบ จบนะ” แต่เรื่องไม่จบอย่างที่คิด เพราะผลกระทบที่เกิดตามมาเป็นความเสียหายกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร สุขอนามัยที่ดีของคนไทย และเศรษฐกิจของประเทศ
การประกาศพบโรคระบาดดังกล่าว ส่งสัญญาณเตือนให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ต้องยกระดับการเฝ้าระวังสัตว์ในฟาร์มและมาตรการป้องกันโรคขึ้นสู่ระดับสูงสุด เพื่อลดการสูญเสียและภาวะขาดทุน ซึ่งปกติผู้เลี้ยงหมูต้องเผชิญกับวัฏจักรหมู หรือ วงจรราคาหมู (Hog Cycle) คือ เสีย 3 ปี ดี 1 ปี มาโดยตลอด กล่าวคือเมื่อผลผลิตราคาดี เกษตรกรก็จะแห่เลี้ยงกันจนผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ จึงค่อยๆลดการเลี้ยงลงไปเรื่อยๆ ราคาไม่ดีเป็นเวลา 3 ปี ผลผลิตก็จะออกสู่ตลาดน้อยมาก กลไกตลาดทำงานราคากลับมาสูงขึ้น ก็จะกลับมาเลี้ยงกันใหม่อีก วนเวียนไป ซึ่งเป็นวัฏจักรที่เกษตรกรยังรอด แต่โรคระบาด ASF “เป็นการตายยกฟาร์ม” เพราะต้องทำลายสัตว์ทั้งที่ติดโรคและไม่ติดโรคที่อยู่ในฟาร์มทั้งหมด อีกทั้งโรคระบาดครั้งนี้ยังเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรให้ขาดทุนเพิ่มขึ้น
ช่วงเวลาดังกล่าว นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รวมพลังกับสมาคมผู้เลี้ยงทั่วประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ให้รายละเอียดว่า โรค ASF ทำให้แม่สุกรหายไปจากวงจร 50% จาก 1,100,000 ตัว เหลือ 500,000 ตัว ขณะที่ลูกสุกรจาก 28 ล้านตัว เหลือ 12-13 ล้านตัว การผลิตสุกรขุนก็ลดลงในทิศทางเดียวกัน และการฟื้นฟูผลผลิตให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี พร้อมเสนอแนะว่าภาครัฐไม่ควรนำเข้าสุกรจากต่างประเทศมาทดแทนส่วนที่ขาด หากนำเข้ามาต้องเปิดเผยจำนวน เพื่อปกป้องเกษตรกรและผู้บริโภค
บนความทุกข์ของผู้เลี้ยงหมูไทย กลายเป็นโอกาสของ “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้า เพราะเห็นช่องทางทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ จากราคาเนื้อหมูในประเทศที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับขึ้นสูงมากกว่า 110 บาทต่อกิโลกรัม (ช่วงต้นปี) ส่งผลให้หมูเนื้อแดงปรับขึ้นสูงสุดมากกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่หมูเถื่อนเสนอราคาเพียงกิโลกรัมละ 135-140 บาท หมูเถื่อนจึงทยอยเข้าไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นมา ขณะที่ภาครัฐกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ ตรวจจับแบบขอไปที ร่วมกันทำงานจากมกราคม-สิงหาคม จับกุมได้ 5 ครั้ง ปริมาณ 115.45 ตัน (ประสิทธิภาพต่ำมาก)
30 สิงหาคม 2565 เป็นอีกครั้งที่ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศสุดจะทน จับมือกันแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐเร่งปราบปรามหมูเถื่อนก่อนเกษตรกรวายวอด เพราะหมูเถื่อนทำให้โรงแปรรูปหมชะลอการซื้อหมูจากเกษตรกร หมูเกษตรกรต้องยืนฟาร์มต่อไปอีกแม้จะได้เวลาจับแล้วก็ตาม แปลว่าต้นทุนเลี้ยงก็จะสูงขึ้นไปอีก แบกรับภาระไม่ไหวก็ต้องเลิกกิจการ
ในครั้งนี้ นายสุรชัย กล่าวว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไม่ได้ปกป้องแค่ผู้เลี้ยง แต่ยังปกป้องพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปลายข้าว ประมาณ 7 ล้านครัวเรือน รวมไปถึงเป็นห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องอีกหลายธุรกิจ เช่น เวชภัณฑ์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การเลี้ยง เป็นต้น ไม่ให้ได้รับผลกระทบหากภาคผู้เลี้ยงสุกรต้องล่มสลายไป พร้อมชี้เป้า “ท่าเรือแหลมฉบัง” คือช่องทางหลักที่หมูเถื่อนเข้าประเทศไทย ขอให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐปราบปรามอย่างจริงจัง
เป็นที่น่าสังเกตว่า การปราบปรามหมูเถื่อนเพิ่มความถี่ขึ้นช่วงปลายเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2565 (หลังฤดูกาลโยกย้าย-แต่งตั้งข้าราชการสิ้นสุด) เมื่อคนเก่าไปคนใหม่มา นอกจากจะเห็นข่าวจับกุมหมูเถื่อนออกสื่อฯ นับสิบครั้ง ล้วนเป็นฝีมือการนำทีมของกรมปศุสัตว์เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะล่าสุดจับล็อตใหญ่ที่ห้องเย็นสมุทรสาครได้ของกลางมากกว่า 400,000 กิโลกรัม ก็นับว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ด้านกรมศุลกากร ต้องออกแรงทำงานง่ายๆ ให้โปรงใสมากขึ้นเพียงแค่ “ตัดตอน” หมูเถื่อนให้หมดที่ท่าเรือฯ ก็จะมีเวลาเหลือไปพัฒนาทำงานใหญ่ได้มากขึ้น เห็นได้ว่า “หมูเถื่อน” สร้างผลกระทบต่อเนื่อง (Domino Effect) กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหารของไทย จึงจำเป็นต้อง ตัดหมูเถื่อน ก่อนเกษตรกรตาย และเศรษฐกิจไทยวายวอด
น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การลักลอบนำเข้าสัตว์หรือชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากไทยมีพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 การนำเข้าสัตว์ ชิ้นส่วนหรือซากสัตว์ ต้องได้รับอุนญาต และต้องมีการตรวจโรคจากประเทศต้นทางและประเทศต้นทางต้องไม่มีโรคระบาด หากมีการลักลอบนำเข้าสัตว์หรือตัวสัตว์จะไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัยหรือตรวจสอบโรคระบาดว่าปะปนมาด้วยหรือไม่
ก่อนหน้านี้ ไทยมีโรคระบาด ASF ซึ่งขณะนี้ไทยดำเนินงานจนดีขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ของโรคเบาบางลง และกำลังดำเนินการต่อเนื่องทำให้เป็น Zero ASF หรือ ASF เป็นศูนย์ ภายใต้มาตรการการป้องกันการลักลอบนำเข้าซึ่งเป็นพาหะของโรคทั้งเนื้อสัตว์และตัวสัตว์ โดยเคยมีประสบการณ์มาแล้ว กล่าวคือ ในระหว่างประเทศอื่นๆ มีโรคระบาดสัตว์ปริมาณของสัตว์ชนิดนั้นจะลดลง การที่จะฟื้นกลับคืนมาใหม่ต้องใช้เวลา และต้องฟื้นฟูให้เกษตรกรกลับมามีอาชีพเลี้ยงสัตว์นั้นได้และอยู่ได้
การทำให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสัตว์ต่อเนื่อง ต้องประคับประคองดูแลไม่ให้โรคระบาดกลับมาซ้ำได้ หากยังมีชื้นส่วนสุกรหรือตัวสัตว์ที่มีโรคเข้ามา เป้าหมายที่ ASF จะเป็นศูนย์เป็นไปได้ยาก รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรยังบอบช้ำ อยู่ระหว่างฟื้นฟู หากมีการลักลอบนำเข้ามาโดยไม่ได้เปิดตลาด ไม่ได้รับอนุญาต จะยิ่งมาทำร้ายเกษตรกร เกษตรกรที่จะนำหมูเข้าเลี้ยงใหม่ต้องลงทุนสูง มีความเสี่ยงและท้อแท้จนไม่อยากกลับเข้ามาเลี้ยง เพราะมีการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสุกรราคาถูกมาแย่งตลาดจะทำให้เกษตรกรล้มเลิกอาชีพหายไป และการกลับมาเลี้ยงใหม่ทำได้ยาก ซึ่งมีตัวอย่างในต่างประเทศมาแล้ว
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกลุ่มต่างๆ ในการหาแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่โดยเร็ว ควบคู่กับมาตรการปราบปรามและมาตรการป้องกันโรคดูแลความปลอดภัยที่เข้มงวดและเป็นธรรม จะทำให้อีกไม่นานเกษตรกรก็จะกลับมาลงทุน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่กรมปศุสัตว์ จะต้องปกป้องเกษตรกรไม่ให้มีการฉวยโอกาสในช่วงที่เกษตรกรกำลังอ่อนแอ และต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้าน นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า การปราบปรามการนำเข้าหมูเถื่อนของกรมปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจับได้ล็อตใหญ่ปริมาณกว่า 439,500 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการลักลอบนำเข้า โดยไม่มีกาตรวจสอบความปลอดภัย หรือตรวจสอบโรคระบาด จากห้องเย็นหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ถือเป็นความมุ่งมั่น จริงจังของกรมปศุสัตว์ภายใต้การนำของอธิบดีกรมปศุสัตว์คนใหม่ที่มีความพยายามดำเนินการตัดตอนโดยเร็ว ซึ่งการปราบหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาในหลายช่องทาง เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่อาจปนเปื้อนเข้ามากับเนื้อหมูและเครื่องในที่ลักลอบนำเข้า ที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการเร่งเพิ่มซัพพลายเนื้อหมูในประเทศ ที่ทางสมาคมฯได้เร่งส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงรายย่อยทยอยกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง
“การที่ รมว.เกษตรฯ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ มีนโยบายเร่งปราบปรามการนำเข้าหมูเถื่อน ช่วยผลักดันให้มีการดำเนินการกับกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสและหาประโยชน์จากคนไทย เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้เลี้ยงสุกร ที่ขณะนี้เพิ่งกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้มีความมั่นใจ และยังเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ เนื่องจากหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามามีความเสี่ยงที่จะเป็นพาหะนำโรคระบาดเข้ามาด้วย” นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ กล่าว
อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า การลักลอบนำเข้าหมูจากหลายแหล่ง เป็นขบวนการที่สำแดงการนำเข้าเป็นเท็จ เช่น อาหารทะเล หรืออาหารสัตว์ ทำให้ไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบโรคสัตว์ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ของกรมปศุสัตว์ และไม่มีเอกสารใบอนุญาตนำเข้า นอกจากนี้หลายประเทศทางตะวันตกอนุญาตให้สามารถใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้บริโภค จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้บริโภคคนไทย และผิดกฎหมายไทยที่ประกาศ “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” มานานกว่า 20 ปี ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 กระทั่งมีการปรับปรุงประกาศฯ เมื่อ พ.ศ.2559 เรื่องกำหนดวัตถุดิบที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงประกาศ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546
“ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ว่าเป็นผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ และมีความปลอดภัยในอาหาร” นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ กล่าว
ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หมูเถื่อน ส่งผลกระทบใน 2 มิติหลักๆ คือ 1. ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทย และ 2. ความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนกระทบต่อผู้บริโภค สำหรับผลกระทบกับอุตสาหกรรม หมูเถื่อนทำให้มีหมูราคาถูกจำนวนมากทะลักเข้าไทย บิดเบือนกลไกราคา ผู้เลี้ยงหมูไทยไม่สามารถขายสุกรได้ตามต้นทุนการเลี้ยงที่แท้จริง ได้รับความเสียหายและมองไม่เห็นอนาคตและโอกาสในการทำกำไรจากการเลี้ยงได้ ไม่มีหลักประกันความมั่นคงในอาชีพที่จะเลี้ยงหมูอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หมูเถื่อน ยังมีความเสี่ยงที่จะมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ASF และเป็นพาหะของโรค ซึ่งคุมได้ยากมากและมีโอกาสกลับมาระบาดในไทยและสร้างปัญหาให้กับประเทศได้
นอกจากหมูเถื่อน จะถูกลักลอบนำเข้ามาในลักษณะแช่แข็งแล้ว ยังเข้ามาในรูปแบบของ หมูมีชีวิต ซึ่งเป็นพาหะของโรคที่สำคัญมาก หากประเทศต้นทางยังมีการแพร่ระบาดของโรค ASF จะส่งกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งผู้เลี้ยงหมู โรงงานอาหารสัตว์ ผู้บริโภค และยังกระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะการระบาดของโรค ASF มีโอกาสทำให้หมูตาย 95-100% แม้ว่าโรคนี้ไม่ติดคนและเนื้อสุกรยังมีความปลอดภัย แต่เมื่อคนกินเข้าไปจะเป็นพาหะติดตามเนื้อตัว หรือ ทางอุจจาระ
“หมูเป็นหนึ่งในความมั่นคงทางอาหารของไทยมานาน ประเทศที่มีสงครามส่งผลให้อาหารและเนื้อสัตว์ขาดแคลน แต่ไทยไม่ค่อยมีผล เพราะไทยเป็นประเทศที่ผลิตอาหารและเป็นครัวของโลก” ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ กล่าว
ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ กล่าวย้ำว่า การตรวจสอบคุณภาพหมูเถื่อนทำได้ยาก จึงมีความเสี่ยงในการบริโภค เนื่องจากหลายประเทศยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง ชนิดแรคโทพามีน (Ractopamine) เช่น สหรัฐ บราซิล ประเทศที่ไม่อนุญาตให้ใช้ คือ ประเทศทางยุโรป หากหมูเถื่อนมาจากประเทศที่ยังใช้สารเร่งเนื้อแดงมาขายในตลาด จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เพราะไทยหยุดใช้สารเร่งเนื้อแดงมานานเกินกว่า 20 ปี สำหรับสารเร่งเนื้อแดง จะทำให้เกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะการกินเครื่องในสัตว์ โดยเฉพาะตับที่มีการสะสมของสารเร่งเนื้อแดงจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นโรคหัวใจ จะทำให้หายใจติดขัด
“หมูเป็นเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมเพราะเนื้อหมูมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นเฉพาะตัว ที่สำคัญคือ ระบบการเลี้ยงหมูของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และเป็นที่น่ายินดีที่ไทยประกาศยกเลิกการใช้สารเร่งเนื้อแดงมาตั้งแต่ 2547 ซึ่งไทยทำได้ดีมาก ทั้งด้านมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานการเลี้ยง” ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิกล่าว
ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า การนำเข้าเนื้อหมูมีทั้งข้อดีและข้อเสีย กรณีประเทศไทยที่ปริมาณหมูหายไป 40-50% เนื่องจากโรคระบาด ASF ทำให้เนื้อหมูราคาแพงขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งต้นทุนการเลี้ยง อาหารสัตว์และปัจจัยค่าเฝ้าระวังโรค (Biosecurity) สูงมาก กรณีการนำเข้าในภาวะฉุกเฉินจึงต้องมีการควบคุมให้มาจากประเทศที่มีความปลอดภัยสูงและมีปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้หมูราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาดึงราคาในประเทศให้ต่ำลง ส่งกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงภายในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ความสามารถในการแข่งขันต่ำ
สำหรับการผู้บริโภคเนื้อหมูอย่างปลอดภัยต้องพิจารณาจากสี ต้องเป็นสีชมพู หรือต้องเลือกร้านที่มีการรับรอง หรือ รู้แหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ชัดเจน ต้องบริโภคเนื้อที่ปรุงสุก เพราะเนื้อดิบยังมีความเสี่ยงเรื่องโรค สำหรับร้านอาหารและร้านหมูกระทะ การใช้วัตถุดิบราคาถูกอาจมีสารปนเปื้อน เมื่อตรวจพบเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นอันตรายและมีผลข้างเคียงต่อผู้บริโภค หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันตรวจสอบ เกษตรกรและผู้บริโภคต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ชี้ช่องในการปราบปราม
สำหรับสถานการณ์ ASF ในปัจจุบันของไทย จำนวนสุกรไม่หนาแน่นเหมือนเดิม การระบาดของโรคไม่มากเท่าเดิม แต่ก็ยังมีการระบาดเพราะเชื้อทนทานต่อสิ่งแวดล้อมมากๆ และมีชีวิตอยู่ในสุกรได้เป็นปี สามารถจะติดเชื้อต่อไปได้ จึงมีโอกาสที่การระบาดจะกลับมา ฟาร์มมีการนำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เช่น การพ่นยาฆ่าเชื้อ การจำกัดคนเข้าและออกฟาร์มให้น้อยลง ระวังสัตว์พาหะ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูไทยสูงขึ้น และมีผลต่อรากฐานการพัฒนาการผลิตอาหารมั่นคงของไทยในอนาคต…