ซากปลาหมอคางดำบนชายหาด… หลักฐานชัด โตไม่ได้ในทะเล

ภาพการพบซากปลาหมอคางดำบนชายหาด ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและความกังวลเรื่องการแพร่กระจายของปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงคือ “ปลานี้สามารถเติบโตหรือแพร่พันธุ์ในทะเลได้หรือไม่?” ถือเป็นคำถามสำคัญต่อการควบคุมและจัดการ แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลทางชีววิทยาอย่างละเอียด พบว่า ความเป็นไปได้ที่ปลาหมอคางดำจะเติบโตได้ทะเลนั้น “แทบเป็นไปไม่ได้เลย”

เนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นปลาน้ำจืดและน้ำกร่อยที่พบได้ในแหล่งน้ำนิ่ง หรือไหลเอื่อย เช่น หนองน้ำ บึง อ่างเก็บน้ำ บ่อร้าง หรือปากแม่น้ำที่มีความเค็มผันแปร แต่ไม่ใช่สัตว์น้ำที่อยู่รอดได้ในทะเลเปิดที่มีคลื่นแรง ความเค็มสูง และกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สภาพแวดล้อมอย่างน้ำทะเลจึงถือว่า “ไม่เหมาะอย่างยิ่ง” กับพฤติกรรมและสรีรวิทยาของปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะในช่วงการวางไข่และการฟักตัวของลูกปลา ที่ต้องอาศัยสภาพน้ำที่นิ่ง มีที่หลบซ่อน และทนความเค็มได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

แม้ว่าปลาชนิดนี้จะมีจุดเด่นด้าน “ความทนทาน” ต่อความเค็ม และเคยมีรายงานว่าพบในน้ำเค็มเจือจางหรือบริเวณชายฝั่ง แต่การที่ปลาจะ “อยู่รอดจนโตเต็มวัย” ในทะเลจริง ๆ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ และยิ่งไม่เคยมีรายงานว่ามีการแพร่พันธุ์ในทะเลเปิด

อีกจุดที่สำคัญคือ พฤติกรรมของปลาหมอคางดำจะชอบอยู่รวมกันในแหล่งน้ำนิ่ง มีตะกอนหรือพืชน้ำให้ซ่อนตัว ไม่ชอบว่ายน้ำต้านกระแสหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน ต่างจากปลาทะเลที่วิวัฒน์มาให้เหมาะกับการดำรงชีวิตในพื้นที่เปิด

นอกจากในประเทศไทยแล้ว ปลาหมอคางดำยังถูกนำเข้าไปยังหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในฐานะปลาสวยงามและปลาสำหรับเลี้ยงเชิงพาณิชย์ เช่น ในสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนเริ่มต้นจากการเพาะเลี้ยงในระบบปิด หรือจำกัดพื้นที่ แต่กลับพบว่าปลาชนิดนี้หลุดรอดและแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แตกต่างกันไปตามระบบนิเวศของแต่ละประเทศ

สำหรับกรณีในต่างประเทศดังกล่าว ที่มิได้มีเป้าหมายเพื่อปล่อยลงสู่ธรรมชาติโดยตรง แต่ยังพบการแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่ความประมาทหรือขาดการควบคุมที่เข้มงวด ก็สามารถกลายเป็นช่องว่างสำคัญที่นำไปสู่ผลกระทบในระดับประเทศได้

อย่างไรก็ตามการหาวิธีการกำจัดปลานี้ออกจากแหล่งน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการควบคุมประชากรปลาหมอคาง เพราะสามารถนำปลาไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในด้านการทำเป็นอาหารมนุษย์ โดยนำไปเป็นเมนูอาหาร แปรรูปเป็นน้ำปลา ปลาร้า ฯลฯ รวมถึงทำเป็นอาหารสัตว์ ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการปลามากขึ้น

การเข้าใจธรรมชาติของปลาชนิดนี้ให้ชัดเจน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดมาตรการจัดการ เช่น การควบคุมในแหล่งน้ำนิ่งและน้ำกร่อย มากกว่าการหวั่นเกรงว่าอาจแพร่พันธุ์ในทะเล เพราะนั่นไม่เพียงผิดทิศทาง แต่ยังอาจเสียเวลาและทรัพยากรไปกับความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ไม่มีหลักฐานรองรับ.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related News