แกลสเซอร์ เงียบร้ายทำลายฟาร์ม (เรียนรู้จากกรณีศึกษา)
มีกรณีศึกษาหนึ่งน่าสนใจมาก อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ฟาร์มขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเลี้ยงสุกรมาค่อนข้างนานแบบดั้งเดิม จนเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ได้เกิดการระบาดใหญ่ของโรค ASF ขึ้น จากความเสียหาย และมาตรการควบคุมกำจัดโรค จึงได้ทำลายสุกรทิ้งทั้งหมด ปิดฟาร์ม ล้างทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ พร้อมกับปรับปรุงฟาร์มโดยเฉพาะในส่วนของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพให้ดี และได้มาตรฐานยิ่งขึ้น เช่น การกางมุ้งตาข่ายคลอบทุกโรงเรือน โรงเรือนเปิดสมัยก่อนก็รีโนเวท ปรับปรุง ให้กลายเป็นโรงเรือนปิดระบบ EVAP เป็นต้น จัดระบบการเข้าฟาร์ม อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าฆ่าเชื้อก่อนเข้า เป็นต้น
เมื่อถึงเวลาเหมาะสม แน่ใจว่ากำจัดเชื้อ ASF จนหมดไปได้ ก็ทำการเริ่มต้นสร้างฝูงสุกรใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มต้นจากนำเข้าพันธุ์แท้ปลอดโรค ASF เข้ามาเลี้ยงเพื่อผลิตแม่สุกรทดแทนตัวเองในระบบฟาร์มปิด ไม่นำแม่สุกรสองสายพันธุ์จากภายนอกเข้ามาอีกเลย ดูเหมือนว่าทุกอย่างกำลังจะไปได้สวย แต่สักพักหนึ่งสุกรกลับค่อยๆ เริ่มป่วยตาย อัตราความเสียหายเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นจากลักษณะอาการทางคลินิก รอยโรคต่างๆ มิได้บ่งชี้ถึงโรค ASF ที่จะกลับมาระบาดใหม่แต่อย่างใด ยืนยันด้วยการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ก็ให้ผลลบเช่นเดียวกัน
ลักษณะของฟาร์ม ตั้งอยู่ห่างไกลจากแหล่งชุมชุน ห่างฟาร์มอื่น ห่างจากสถานที่เสี่ยงอันจะนำโรคเข้าสู่ฟาร์ม ฟาร์มมีรั้วรอบขอบชิด มีประตู 2 ชั้น จากนอกฟาร์มผ่านชั้นแรกเข้าสู่ส่วนบ้านพัก และสำนักงาน ผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรครถและยานพาหนะที่จำเป็นต้องเข้าฟาร์ม จากนั้นก่อนเข้าสู่ส่วนเลี้ยงสัตว์ ต้องมีการอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนรองเท้า ผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ทั้งคนและรถก่อนเข้าสู่ส่วนเลี้ยงสัตว์ กักโรคคนงานก่อนเข้าเลี้ยงสัตว์ มีระบบโรงเรือน อุปกรณ์ ระบบ EVAP ล้วนได้มาตรฐานการจัดการผ่านมาตรฐานที่ควรจะเป็น
ปัญหาสุกรป่วยตายเพิ่มมากขึ้นนั้น พบในฝูงสุกรอนุบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เลี้ยงอยู่ในโรงเรือน EVAP ป่วยตายมีทั้งเฉียบพลัน และเรื้อรังด้วยอาการระบบทางเดินหายใจ ไอ หอบ อาการระบบประสาทเช่น ชัก และอื่นๆ เช่น หูม่วง และเมื่อสุกรกลุ่มนี้ลงเลี้ยงช่วงขุน ก็พบป่วยตาย มีอัตราการเสียหายต่อเนื่องคล้ายคลึงกัน จากสถิติที่มากสุดเคยพบว่าเสียหาย 40-50% เลยก็มี ฟาร์มจัดการปัญหานี้ด้วยวิธีการคัดทิ้งยกทั้งคอกที่แสดงอาการ หรือมีสุกรตาย จากการผ่าชันสูตรซาก บางตัวไม่พบวิการหรือรอยโรคใดๆ แต่ส่วนใหญ่พบความผิดปกติที่มีไฟบรินคล้ายหนองสีขาวเหลืองปกคลุมยึดติดแน่นกับถุงหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มปอด น้ำในช่องอกมีสีออกเหลืองข้น ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาพบมีแม่สุกรตายไป 2-3 ตัว พบรอยโรคดังที่กล่าวมาในช่องอกเช่นเดียวกัน ซึ่งผลจากการเก็บส่งชันสูตรทางห้องปฏิบัติการพบว่าเป็นโรคแกลสเซอร์ (Glasser ’s disease)
แต่ทั้งนี้อาจมิฟันธงเป็นแต่แกลสเซอร์โรคเดียว เพราะผลการตรวจคุณภาพน้ำทางชีววิทยา พบเชื้อ E.coli เกินมาตรฐาน ซึ่งแม้ทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนแล้ว แต่ด้วยปริมาณที่มาก ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เชื้ออาจหลงเหลือพอก่อโรคได้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคบวมน้ำ (Edema disease) อีกทั้งโปรแกรมวัคซีนจากช่วงก่อนที่มี ASF ระบาด ได้ลดลงมาเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นนั้น โปรแกรมวัคซีนพื้นฐานบางโรคเช่น อหิวาต์สุกร พิษสุนัขบ้าเทียม อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ปัญหาและความผิดปกติที่เกิดขึ้นบางส่วนอาจเกิดจากจำนวนเข็ม และช่วงเวลาที่ทำวัคซีนทั้งสองโรคนี้ไม่เหมาะสม จนคุ้มโรคได้ไม่ดี อาจมีสองโรคนี้เกิดขึ้นในฝูงด้วยก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังอาจวินิจฉัยแยกแยะจากอาการ หรือวิการอื่นที่เจออีกเล็กน้อยได้แก่ โรคพาสเจอร์เรลโลซีส หรือโรคเอพีพี หรือโรคสเตรปโตคอกคัส ร่วมด้วยก็เป็นได้
ทั้งนี้จากการวินิจฉัยเบื้องต้น แม้ว่าจะปรับระดับเพิ่มมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพให้อยู่ในระดับสูงแล้ว แต่ทำไม่ยังเกิดโรคเก่าแก่ โรคที่มีมาแต่โบราณเช่นแกลสเซอร์นี้ขึ้นในฟาร์มได้อีก เริ่มแรกอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นฟาร์มที่เลี้ยงสุกรมายาวนานมากแล้ว โรงเรือนเก่า อาจมีเชื้อหลงเหลืออยู่ แม้ว่าจะใช้มาตรการเข้มข้นกำจัด ASF แต่เชื้อแกลสเซอร์อาจหลุดรอดเหลือมาก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังอาจติดแฝงมากับสุกรพันธุ์แท้ที่นำเข้ามาเลี้ยงแต่เริ่มต้นใหม่ก็เป็นได้ นอกจากนี้เชื้อก็ยังอาจเล็ดรอดเข้าสู่ฟาร์มได้อีกหลายทางเช่น คน วัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ อาหาร สัตว์พาหะ และอีกมากมายหลายทางก็เป็นได้ มิได้หมายความว่าหากมีมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพเข้มงวดขั้นสูงป้องกัน ASF ได้แล้ว จะป้องกันโรคอื่นได้ 100% นั่นอาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะแต่ละเชื้อ แต่ละโรคย่อมมีคุณสมบัติแตกต่างกันทั้งตัวเชื้อ ทางของการติดต่อ ระยะฟักตัว ความทนทาน พยาธิกำเนิดเกิดโรค การป้องกันในอีกหลายๆ โรคยังต้องอาศัยการทำวัคซีนอยู่ ดังมีหลายกรณีศึกษาที่ผ่านมาพบว่าหลังเกิด ASF ระบาด มีการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุด ลดการรบกวนสุกร ลดความเครียด ลดการกดภูมิคุ้มกันร่างกาย ด้วยการหยุด ลดชนิด และจำนวนเข็มของการทำวัคซีนโรคต่างๆ ให้น้อยลงมากที่สุด และยังคงอย่างนี้ไว้ตลอดมา สุดท้ายหลายฟาร์มกลับมีรายงานโรคต่างๆ ระบาดขึ้นในฝูงหลังจากควบคุม ASF ได้ หรือเริ่มต้นเลี้ยงใหม่อยู่เนืองๆ ได้แก่ โรค PRRS โรคอหิวาต์สุกร โรคเอพีพี โรคปอดมัยโคพลาสมา เป็นต้น
โรคแกลสเซอร์ หรืออาจเรียกว่า โรคเยื่อเลื่อมและข้อทั่วไปอักเสบในสุกรมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ Haemophilus parasuis รูปร่างเป็นแท่ง กลม หรือมีรูปร่างแตกต่างกันได้หลายแบบ ปัจจุบันพบมากกว่า 15 ซีโรไทป์ ก่อโรคเฉพาะในสุกร เป็นได้ทุกช่วงอายุ แต่มักพบหลังหย่านมตั้งแต่อายุ 5-8 สัปดาห์เป็นต้นไป แบคทีเรียผ่านออกมากับสิ่งคัดหลั่งจากการหายใจ ไอ จามของสุกรป่วยเท่านั้น ติดผ่านการหายใจ มักเกิดจากการสัมผัสกันทางตรง แต่ทางอ้อมผ่านคน วัสดุอุปกรณ์ อาหาร น้ำ ยานพาหนะ สัตว์พาหะ ก็เป็นได้เช่นกัน การติดเชื้อนี้ค่อนข้างง่าย พบได้ทั่วโลก โดยมีปัจจัยโน้มนำได้แก่ ความเครียดหลังหย่านม การขนย้าย การรวมคอก อาหาร สุขศาสตร์และการจัดการที่ไม่เหมาะสมเช่น แก๊สแอมโมเนียสูง ความชื้นสูง ซึ่งจากกรณีศึกษาฟาร์มด้านบน ก็เข้าข่ายนี้ด้วยจากโรงเรือน EVAP ที่จะความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่าโรงเรือนเปิดอยู่แล้ว รวมถึงอากาศที่วนเวียนภายใน อันเอื้อให้เชื้อเพิ่มจำนวน อยู่ได้นาน และติดต่อสู่ตัวอื่นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อปรับเปลี่ยนนำสุกรชุดต่อมาลงอนุบาลในโรงเรือนเปิด กลับพบว่าสุกรป่วยตายน้อยลงมากอย่างมีนัยสำคัญ
เชื้อนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการใดๆ อาจมีเพียง 10% ที่แสดงอาการหนัก แต่ก็อาจพบมากกว่านี้ได้หากมีปัจจัยเอื้อเหมาะสม สุกรป่วยจะแสดงอาการทางคลินิกได้ 3 ระบบ คือ 1 ทางเดินหายใจ มีไข้สูงปานกลางถึงมาก น้ำหนักลด ขนหยาบ แกร็น ไม่กินอาหาร ซึม อ่อนเพลีย ไม่อยากเคลื่อนไหว หายใจลำบาก หายใจตื้น ยืดคอและหัว อ้าปากหายใจ ไอ อัตราการเต้นของหัวใจสูง มีสีม่วงคล้ำที่ผิวหนังส่วนปลาย เยื่อตาขาวคั่งเลือด หนังตา และใบหูบวมน้ำ 2 ระบบข้อต่อ บวม ร้อน มีของเหลวภายใน เจ็บปวด เมื่อจับคลำ หรือลุกขึ้นยืนจะส่งเสียงร้องเจ็บปวดมาก ไม่อยากลุกเดิน เดินขากระเผลก ยืนด้วยปลายกีบและเดินลากขา มีช่วงก้าวสั้นๆ ชอบนอนเท้าทั้งสี่เก็บเข้าหาลำตัว 3 ระบบประสาท กล้ามเนื้อสั่นกระตุก ตะคริว สองขาหลังทำงานไม่ประสานกัน อัมพาต ล้มตัวลงนอนตะแคง ดิ้นรนลุกขึ้น ชักตะกาย รุนแรงจะตายใน 2-3 วัน จากภาวะติดเชื้อเข้ากระแสเลือด หากเป็นแบบเรื้อรังจะรอด และเกิดข้ออักเสบเรื้อรัง ลำไส้อุดตัน หัวใจล้มเหลว อวัยวะทำงานไม่สมบูรณ์จากเยื่อเหนียวที่ยึดติดกันแน่น แม่สุกรสาวอาจแท้งได้ โดยเฉลี่ยโรคนี้จะมีอัตราการป่วย 50-75% อัตราการตาย 10% ขึ้นไปหรือมากกว่า
โรคนี้มีรอยโรคค่อนข้างจำเพาะคือ เยื่อบุ เยื่อหุ้มช่องโพรงร่างกายอักเสบแบบมีไฟบรินเป็นเยื่อเหนียวมาปกคลุม พบที่เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มปอด ช่องอก ถุงหุ้มหัวใจ เยื่อบุช่องท้อง เยื่อบุช่องเชิงกราน เยื่อบุโพรงจมูกคอหอยหลอดลม และข้อต่อ ในโพรงร่างกายมีของเหลวขุ่น สีเทาเหลืองสะสม และกลายเป็นไฟบรินตามมา น้ำในไขข้อข้นหนืด มีไฟบรินสีเขียวเหลือง มีหนองภายใน เนื้อเยื่อโดยรอบมีการอักเสบ
วินิจฉัยโดยการเพาะเชื้อแบคทีเรียจากสุกรป่วย น้ำไขข้อ และน้ำในช่องโพรงต่างๆ เลือดในหัวใจ น้ำไขสันหลัง สมอง หลอดลม ปอด หัวใจ ตับ ม้าม ไต ซึ่งเป็นเชื้อที่ยากต่อการเพาะเลี้ยง และยังเป็นโรคที่วินิจฉัยยาก เพราะมีอาการเหมือนหลายโรคอื่นๆ คือ มัยโคพลาสมาชนิดลงข้อต่อ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส โรคบวมน้ำจาก E.coli โรคพิษสุนัขบ้าเทียม โรคไข้หนังแดง โรคติดเชื้อ Actinobacillus suis และปัจจุบันมักเป็นเชื้อที่ติดแทรกซ้อนร่วมตามมาภายหลังจากเชื้อติดอื่นในระบบทางเดินหายใจมาก่อน ได้แก่ โรค PRRS โรคเซอร์โคไวรัส โรคปอดมัยโคพลาสมา โรคโพรงจมูกอักเสบติดต่อ โรคไข้หวัดใหญ่สุกร จนกลายเป็นกลุ่มอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจซับซ้อนในสุกร (PRDC) ที่ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น 20%
ยาที่มีรายงานว่าออกฤทธิ์ดีต่อเชื้อนี้ได้แก่ อะม็อกซิซิลลิน แอมพิซิลลิน เซฟาโรสปอริน ด็อกซี่ซัยคลิน เอนโรฟลอกซาซิน ฟอสโฟมัยซิน เป็นต้น หากเป็นนานแล้ว แสดงอาการ มีรอยโรคหนักแล้ว รักษาไม่ค่อยหาย เนื่องจากไฟบรินหรือรอยโรคที่เกิดขึ้นแล้วคงอยู่ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ผิดปกติไป ทำงานไม่ได้ ควรรักษาแต่เริ่มติดเชื้อใหม่ๆ หรือแสดงอาการแต่ต้น หากเป็นเรื้อรังในฟาร์ม นิยมทำวัคซีนป้องกันมากกว่า โดยทั่วไปนิยมทำ 2 เข็มในสุกรสาวก่อนเข้าฝูง สุกรนางทำช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด หรือทุกๆ 4-6 เดือน ส่วนลูกสุกรทำที่อายุ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งโปรแกรมวัคซีนแต่ละฟาร์ม ควรได้รับการพิจารณาและแนะนำจากสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะต้องปรับให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรค สถานภาพโรค และสถานภาพของภูมิคุ้มกันโรคในฝูง รวมถึงโรคอื่นๆ ที่มีในฝูงประกอบด้วย ฟาร์มนี้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวดอยู่แล้ว จึงแนะนำการใช้ยาในสุกรที่ป่วยใหม่ รวมถึงแนะนำการทำวัคซีนป้องกันโรคแกลสเซอร์ทั้งในฝูงแม่พันธุ์ และลูกสุกร รวมถึงปรับเปลี่ยนโปรแกรมวัคซีนพื้นฐานเดิมที่มีอยู่เช่น วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกร วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเทียม ให้เหมาะสมตามหลักวิชาการมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่มและน้ำล้างคอก อันจะช่วยลดปัญหาจาก E.coli ในรูปแบบต่างๆ ได้ และปรับปรุงระบบการฆ่าทำลายเชื้อโรคทั้งสิ่งแวดล้อม โรงเรือน การปฏิบัติงาน รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา ควบคุม และป้องกันเชื้อโรค อันคาดว่าโรคพาสเจอร์เรลโลซีส โรคเอพีพี โรคสเตรปโตคอกคัส ก็น่าจะได้รับผลกระทบลดลงด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้การเลี้ยงสุกรถือเป็นพลวัติ นั่นคือ เป็นสิ่งที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ มีการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่นตลอดเวลา ดังเช่น เมื่อกำจัดโรค ASF ได้แล้ว โรคเก่าๆ ที่เคยมีเคยเป็นก็กลับมา ดังเช่น แกลสเซอร์ ที่เห็นได้ชัดเจนในครั้งนี้ และในอนาคตอาจมีโรคอื่นๆ ที่เป็นฐานของภูเขาน้ำแข็งโผล่ขึ้นมาให้เห็นทดแทนอีกก็เป็นได้ ดังนั้นการเลี้ยงสุกรจึงเป็นศาสตร์และศิลป์ให้เรารังสรรค์ แก้ไขปัญหา วางกลยุทธ์ใหม่ๆ ป้องกัน มีล้มลุกคลุกคลาน และยืนหยัดขึ้นได้ใหม่กันไม่รู้จบ
โดย น.สพ. ยุทธ เทียมสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บจก. เซ็นทรัลลิส
เอกสารอ้างอิง
https://niah.dld.go.th/webnew/knowledge/knowledge-major-diseases-in-animals/disease-in-pigs/glasser
https://www.veterinariadigital.com/en/post_blog/glasser-disease