ถอดรหัส “ปลาหมอคางดำ” กระจายไว อาจไปกับคน
ปลาหมอคางดำ ถือเป็น 1 ในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและติดตาม หลังจากภาพปลาหมอคางดำกระจายพันธุ์ไปตามแหล่งน้ำ บ่อเพาะเลี้ยงกุ้งและปลาของเกษตรกร จนไปถึงบึงมักกะสันในกรุงเทพฯ สร้างความกังวลถึงผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่น เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์
ตามมาด้วยความพยายามสืบหาแหล่งต้นตอ หาผู้รับผิดขอบ โดยตั้งข้อสังเกตไปที่บริษัทเอกชนที่มีรายงานการขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้อง เพียงรายเดียว จนอาจมองข้ามความเป็นไปได้อื่นๆ ไป
พร้อมกันนี้ยังปั่นกระแสปลาหมอคางดำ ผ่านการนำเสนอด้วยคำว่า “เอเลี่ยนสปีชีส์” จนกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนราวกับว่าเป็นสัตว์ประหลาดที่เข้ามาทำลายแหล่งน้ำ ทั้งๆ ที่ ปลาหมอคางดำ คือ ปลาชนิดหนึ่งที่รับประทานได้ไม่แตกต่างจากปลาอื่นๆ เมื่อเพิ่มจำนวนก็จัดการได้ด้วยการจับขึ้นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เหมือนกับที่ผ่านมาประเทศไทยได้เผชิญกับสัตว์ต่างถิ่นรุกรานทั้ง ตั๊กแตนปาทังก้า และ หอยเชอรี่ ที่ทุกวันนี้กลายเป็นอาหารที่มีความต้องการสูงและขายได้ราคาดี
การรุกรานของ “ปลาหมอคางดำ” เป็นประเด็นที่สังคมต้องการให้หาความจริง โดยเฉพาะต้นตอที่ทำให้ปลาหลุดสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ที่ NGO รายหนึ่งพุ่งเป้าไปที่การนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อวิจัยของบริษัทเอกชนเพียงรายเดียว ผ่านการนำเสนอข้อมูลและภาพต่างๆ ผ่านเวทีสาธารณะและโซเซียลมีเดีย โดยอ้างว่า ได้ข้อมูลเหล่านั้นมาจากอดีตพนักงานที่ทำงานในฟาร์มวิจัยแหล่งนั้น จนกระทั่ง บริษัทต้องออกมาแถลงข่าว ชี้ให้เห็นถึงการบิดเบือนข้อเท็จจริง และได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดี
ในขณะที่ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ และคณะทำงานสำนักงานคดีปกครอง ยังได้เตรียมยื่นฟ้องแพ่งต่อ บริษัทและฟ้องคดีปกครองต่อกรมประมง จากกรณีปลาหมอคางดำ ด้วยหลักฐานสำคัญ คือ ข้อมูลงานวิจัยสองฉบับของกรมประมง ซึ่งมีรายงานผลการศึกษา จุดที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ รวมถึง ดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำ
อย่างไรก็ดี การไต่สวนหาสาเหตุไม่ใช่เรื่องง่าย กระบวนการพิสูจน์ต้องใช้เวลาจนกว่าจะกระจ่าง ด้วยเหตุนี้ ในการสืบสวนต้องไม่มองข้ามประเด็นอื่นๆ ที่มีโอกาสเป็นไปได้ โดยเฉพาะข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำในระหว่าง 2556-2559 ที่มีรายงานว่า มีการส่งออกรวม 4 ปี กว่า 3.2 แสนตัว ที่จนถึงวันนี้ กรมประมงยังคงให้ข้อมูลได้เพียงแค่ว่า ชื่อปลาในรายงานการส่งออก เป็นเพียงการกรอกชื่อผิดของเจ้าหน้าที่ชิปปิ้ง และเบื้องต้นทั้ง 11 บริษัท ได้ให้ข้อมูลว่า เป็นปลาหมอสีมาลาวี แต่ถือเป็นคำชี้แจงที่เชื่อถือได้ยาก แม้แต่ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ก็ยังมีความสงสัยว่า ทั้ง 11 บริษัท ใช้บริการชิปปิ้งเดียวกัน โดยไม่ได้ตรวจเลยว่า ปลาที่ส่งออกกับชื่อในเอกสารไม่ตรงกันมาตลอด 4 ปี ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีการตรวจสอบว่า ปลาที่ส่งออกเป็นปลาอะไร ทั้งๆ ที่เป็นปลาห้ามเพาะเลี้ยง
ที่สำคัญ ตาม พรก.ประมง ปี 2558 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ส่งออกปลาต้องแจ้งแหล่งที่มาก่อนการส่งออกทุกครั้ง” สิ่งนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่เคยได้ออกมาบอกกับสังคมเลยว่า ได้มีการตรวจสอบแล้วหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ควรต้องเปิดเผยออกมาให้สิ้นสงสัย ไม่ใช่เงียบไปให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจเช่นนี้
หรือที่ปล่อยให้สังคมพุ่งเป้าไปที่บริษัทเอกชนเพียงอย่างเดียว เพราะไม่ต้องการให้มองเห็นถึง ช่องโหว่ ความบกพร่องในมาตรการควบคุมการนำเข้าส่งออกของภาครัฐ ที่อาจเชื่อมโยงถึงธุรกิจการลักลอบนำเข้าปลาสวยงาม โดยไม่ได้รับอนุญาตที่อาจไม่เพียงแต่ละเมิดกฎหมาย แต่ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศในประเทศ
ขบวนการลักลอบนี้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ลำเลียงปลาสวยงามหายากและมีมูลค่าจากต่างประเทศเข้ามา โดยผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการซ่อนในกระเป๋าเดินทาง หรือใช้กล่องโฟม รวมไปถึงการใช้เอกสารนำเข้าเท็จ ซึ่งล่าสุด ฉก.พญานาคราช ได้จับกุมปลาสวยงาม (ปลาตะพัด) ที่ไม่มีใบอนุญาตให้ค้าหรือครอบครอง ณ อาคารคลังสินค้าท่าอากาศยานหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 48 ตัว มูลค่าราว 288,000 บาท สิ่งเหล่านี้ยืนยันให้เห็นว่า มีการลักลอบนำเข้าปลาสวยงามอยู่จริง ซึ่งนี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานที่ไทยกำลังเผชิญ แต่กลับถูกมองข้าม และยังไม่ได้รับการแก้ไข
ซึ่งประเด็นการส่งออกปลาสวยงามนี้ มีข้อมูลจาก NGO ระบุถึงข้อมูลวงในหน่วยงานราชการพบว่า การใช้ชื่อ “ปลาหมอสีคางดำ” ซึ่งใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron เพื่อหลบเลี่ยงแสดงหลักฐาน GAP ทำให้ส่งออกได้โดยง่าย เพราะกรมประมงมีมาตรฐานบังคับ สำหรับการส่งออกปลาหลายชนิด
นั่นยิ่งแสดงให้เห็นถึงความหละหลวมของหน่วยงานที่รับผิดขอบ เพราะนอกจากความสับสนของชื่อสามัญแล้ว ยังปล่อยให้ใช้ชื่อ ปลาห้ามเพาะเลี้ยง เพื่อช่วยให้ส่งออกได้ง่ายขึ้น และยังมีข้อสงสัยตามมาว่า มีการส่งออกปลาต้องห้ามด้วยชื่อหรือไม่ แม้ประเทศปลายทางจะเฝ้าระวัง ถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วจะยังสงสัยหรือไม่ ส่วนที่บอกว่า การส่งออกหากมี ก็เกิดหลังจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในประเทศแล้วนั้น หมายถึงว้า จะให้บริษัทที่ส่งออกเหล่านั้นไปจับปลาจากแหล่งน้ำสาธาณะมาเพาะเลี้ยงและส่งออกเช่นนั้นหรือ
และยิ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากปลาหมอคางดำกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจแล้วก็มีรายงานการพบปลาในพื้นที่นัเน พื้นที่นี้ ราวกับว่า มีแม่น้ำลำคลองเชื่อมโยงกันทุกที่ ปลาถึงได้ว่ายไปขยายพันธุ์ได้หลายจังหวัด หรือแท้จริงมีคนนำพาไปด้วยกันแน่ และได้มีการตรวจดีเอ็นเอ อีกหรือไม่ว่า ปลาที่พบในแต่ละแห่งมาจากแหล่งเดียวกันอยู่หรือไม่ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง
จากข้อมูลในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าปลาหมอคางดำมีทั้งที่เป็นสีซีดและที่เป็นสีสันอื่นๆ เช่น สีฟ้าอ่อน สีส้ม และสีเหลืองทอง และปลาที่โตเต็มวัยจะมีแถบสีดำที่คาง จึงถูกนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ส่วนปลาไม่มีสีส่วนใหญ่ก็บริโภคหรือทำเป็นปลาป่น ข้อมูลนี้ช่วยยืนยันว่า ปลาชนิดนี้เป็นที่ต้องการในตลาดปลาสวยงาม แต่สิ่งสำคัญตอนนี้อาจไม่ใช่การมาถกเถียงกันว่า ใครเป็นต้นตอ แต่ควรเป็นการระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ปัญหา
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี ได้วาง 7 มาตรการแก้ปัญหาไว้ อาทิ การปล่อยปลานักล่า การตั้งเป้าจับ 4 ล้านกิโลกรัมภายในกลางปีหน้า การทำให้ปลาเป็นหมันโดยการเหนี่ยวนำโครโมโซม การเฝ้าระวังและทำความเข้าใจกับประชาชนใน 17 จังหวัดที่พบการขยายพันธ์ปลา การฟื้นฟูระบบนิเวศน์ โดยใช้งบ 450 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าปี 2570 จะควบคุมปัญหาปลาหมอคางดำได้ พร้อมกันนี้ บริษัทเอกชนยังช่วยสนับสนุนโครงการแก้ปัญหา ด้วยการเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ระบาด ราคากิโลกรัมละ 15 บาท จำนวน 2 ล้านกิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่น อีกทั้งร่วมมือกับ สถาบันการศึกษาวิจัยหาแนวทางควบคุมปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
จากปัญหาปลาหมอคางดำ ทำให้ประชาชน สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศน์ที่ต้องรักษาไว้ พร้อมกับตรวจหาที่มาของปัญหา และแนวทางแก้ไขอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการควบคุมสัตว์น้ำต่างถิ่น รวมถึงจัดการขบวนการลักลอบนำเข้าอย่างจริงจัง