ราคาสินค้าเกษตรต้องใช้กลไกตลาดนำ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ฤดูร้อน อุณหภูมิประเทศไทยอยู่ในระดับสูงเหมือนกับหลายๆ ประเทศเขตร้อนที่ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตร ยิ่งช่วงที่โลกเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ยิ่งทำให้อากาศร้อนและแห้งแล้งมากขึ้นอุณหภูมิในประเทศสูงเฉลี่ยประมาณ 40-42 องศาเซลเซียส ไม่ว่า คน สัตว์ หรือ พืช ล้วนได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน โดยเฉพาะภาคปศุสัตว์ อากาศที่ร้อนมากทำให้สัตว์เครียด ต้องการน้ำมากขึ้นเพื่อระบายความร้อน ส่งผลให้การกินอาหารได้ลดลง กระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโต ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ ดังนั้น ช่วงฤดูร้อนราคาเนื้อสัตว์จะปรับตัวสูงขึ้น ตามอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) หรือที่เรียกว่าตามกลไกตลาด (Market Mechanism)
ยกตัวอย่าง “หมู” ซึ่งเนื้อหมูได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับคนไทย เมื่อใดที่อากาศร้อนและแห้งแล้ง ลูกหมูขุนจะเครียด ไม่สบายตัว อัตราการกินอาหารต่ำ การเจริญเติบโตจึงต่ำกว่ามาตรฐาน ยิ่งแม่หมูที่มีลูกหมูในท้องจะได้รับผลกระทบมากกว่า อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงหมูควรอยู่ที่ 26-28 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิขณะนี้สูงกว่ามาก จึงเป็นการยากที่สัตว์จะใช้ชีวิตได้ตามปกติ ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย
สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ต้องบริหารจัดการฟาร์มและต้นทุนด้านต่างๆ ในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปัจจัยการป้องกันโรค พลังงาน และค่าใช้จ่ายประจำ เพื่อบำรุงรักษาสัตว์ให้เจริญเติบโตได้ดี ผลผลิตมีเสถียรภาพ อัตราแลกเนื้อไม่สูง การเติบโตดีตามที่ตลาดต้องการ และสามารถทำกำไรได้เพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการเลี้ยงรอบต่อไป ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคปศุสัตว์ประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบสูงต่อเนื่องประมาณ 30% จากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ตลอดจนสภาวะแห้งแล้งในพื้นที่เพาะปลูกวัตถุดิบสำคัญทำให้ผลผลิตลดลง ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง และข้าวสาลี
ที่สำคัญ ในภาคผู้เลี้ยงหมูยังประสบปัญหาขาดทุนสะสมนานกว่า 1 ปี จากการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาขายในประเทศเกือบ 65,000 ตัน ระหว่างปี 2565-2566 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ฉุดราคาในประเทศให้ตกต่ำต่อเนื่อง โดยราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเคยตกต่ำที่สุดอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของเกษตรกรสูงกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม ถึงแม้วันนี้ตามกลไกตลาดทำงาน ส่งผลราคาขายหน้าฟาร์มปรับมาอยู่ที่ 70-75 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรก็ยังอยู่ในสถานะขาดทุน
ส่วน “ไก่ไข่” อากาศร้อนอบอ้าวก็ทำให้แม่ไก่อยู่ในภาวะเครียดไม่ต่างจากหมู ประกอบกับไก่ไม่มีต่อมเหงื่อ และยังมีขนหุ้มตัวทำหน้าที่ให้ความอบอุ่น จึงเป็นอุปสรรคต่อการระบายความร้อน ทำให้แม่ไก่ออกไข่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ไข่มีขนาดฟองเล็กลง และแม่ไก่บางตัวอาจมีปัญหาไข่แตกในท้องเสี่ยงความเสียหายมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดเป็นเหตุผลให้ราคาไข่ไก่จำเป็นต้องปรับตามกลไกตลาด เรื่องนี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า การปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกไข่ไก่อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น ส่งผลให้ร้านค้าปลีกในบางพื้นที่ปรับราคาขายปลีกขึ้นและจำหน่ายไข่ไก่ได้น้อยลง รวมถึงราคาไข่ไก่จะลดลงในช่วงปิดภาคเรียน อย่างไรก็ตาม กรมฯ มีการกำกับดูแลและติดตามสถานการณ์และตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือจำหน่ายไข่ไก่ในราคาสูงเกินสมควร
ช่วงที่ผ่านมาราคาหมูหน้าฟาร์มเฉลี่ย 68-70 บาทต่อกิโลกรัม แต่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่งจะมาขยับสูงต่อเนื่องมาอยู่ที่ราคา 72-75 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากความต้องการสูงช่วงเทศกาลและผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง จากโครงการลดจำนวนลูกหมูขุน นำไปทำหมูหัน ส่วน ไข่ไก่ อากาศร้อนแล้งสมาชิกสหกรณ์และผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ ปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มเพิ่มขึ้นฟองละ 20 สตางค์ อยู่ที่ 3.60 บาทต่อฟอง เนื่องจากอากาศร้อน ผลผลิตลดลง หลังจากยืนราคา 3.40 บาท มานานกว่า 3 เดือน (ตั้งแต่มกราคม 2567)
การบริหารจัดการราคาสินค้าเกษตรด้วย “กลไกตลาด” ทำให้ทั้งราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มและราคาที่เขียงหมู รวมถึงราคาไข่ไก่ มีการปรับขึ้น-ลง ตลอดทั้งปี จากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นข้างต้น ราคาของเนื้อสัตว์จำเป็นต้องปรับขึ้น-ลง ตามกลไกตลาดได้ในระดับที่เหมาะสม “ผู้บริโภคอยู่ได้ ผู้เลี้ยงอยู่รอด” ไม่ผลักภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้กับผู้บริโภคได้รับทราบระบบการผลิต สภาพแวดล้อม โรคระบาดที่มีผลต่อวงจรชีวิตของสัตว์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน.
โดย ศิระ มุ่งมะโน นักวิชาการอิสระ