“รัฐบาลใหม่” ความหวังภาคปศุสัตว์ แก้ปัญหาครบวงจรต้นน้ำ-ปลายน้ำ

เห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อย แต่งานสำคัญตามนโยบายขายฝันที่ตกปากรับคำไว้ช่วงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ถูกทวงถามสัญญาประชาคม โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจมหภาคเศรษฐกิจประเทศ ปัญหาปากท้องของคนไทย และความเดือดร้อนของภาคส่วนต่างๆ หวังให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหา พิสูจน์ฝีมือในการเดินหน้าประเทศไทยให้สัมฤทธิ์ผล อย่างรวดเร็ว หลังระบบบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในภาวะ “สุญญากาศ” มา 5 เดือน
ภาคปศุสัตว์เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไม่น้อยกว่าภาคอื่นๆ ทั้งการสร้างอาหารมั่นคงสนับสนุนการบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอ และส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่านำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาคปศุสัตว์ โดยเฉพาะการผลิตเนื้อสัตว์หลักทั้ง หมู ไก่ ไข่ไก่ รวมถึงสัตว์น้ำ กุ้งและปลา ที่ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคต่อการพัฒนามากมาย ที่เรียกร้องไปหลายรัฐบาลแต่ไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ทำให้ความสามารถแข่งขันไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
ที่สำคัญปัญหาภาคปศุสัตว์เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นเจ้ากระทรวงทั้งคู่ โดยเฉพาะปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นน้ำของการผลิต ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังคงยืนหยัด “โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร” เพื่อรักษาฐานเสียงไว้ รวมถึงมาตรการปกป้องเกษตรกรจนทำให้อ่อนแอแข่งขันกับต่างประเทศได้ยาก ด้วยการกำหนดสัดส่วนการซื้อผลผลิตในประเทศเพื่อนำเข้าวัตถุดิบสำคัญจากประเทศ เช่น ข้าวโพด : ข้าสาลี (3:1) ทั้งที่ ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ต้องนำเข้าปีละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตัน ส่วนนี้กำกับดูแลโดยกระทรวงพาณิชย์
ส่วนกระทรวงการคลัง มีการเก็บภาษีนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง 2% ที่เป็นการเอื้อให้ผู้นำเข้าสามารถขายกากถั่วเหลืองได้ในราคาสูงกว่ารายได้จากภาษีนำเข้าที่รัฐบาลเก็บได้ รายได้ส่วนนี้ไม่มากเมื่อเทียบกับปริมาณนำเข้าถั่วเหลืองประมาณ 50,000 ตันต่อปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวใช้มาหลายสิบปีแต่ไม่มีการทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ประสบปัญหาขาดทุนหรือบริหารจัดการแบบสุดขั้วเพื่อให้เสมอตัวมาโดยตลอด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงปีที่ผ่านมาการเผชิญหน้ากันระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ปรับสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 30% สูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากรัสเซียไม่รับรองความปลอดภัยการขนส่งสินค้าทางทำเลดำ ตลอดจนราคาน้ำมันในตลาดโลกก็สูงขึ้นในทิศทางเดียวกันที่ปรับลดลงมาบ้างแล้วในขณะนี้ ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันต้นทุนการผลิตของภาคปศุสัตว์ทั้งสิ้น
แม้ขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะปรับลดลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังสูงเป็นประวัติการณ์เฉลี่ยราคาอยู่ที่ประมาณ 12 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมไม่เกิน 10 บาท ก็ถือว่าสูงแล้ว วัตถุดิบชนิดอื่นก็ยังยืนในราคาสูงตามอุปสงค์-อุปทาน แต่ข้าวโพดและเมล็ดถั่วเหลือง ไทยต้องนำเข้าทุกปีในปริมาณสูง เนื่องจากไทยผลิตได้น้อยกว่าความต้องการ
ปัญหาดังกล่าวสั่งสมมานานนับสิบปี จนถึงวันนี้เกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก ต้องเลิกอาชีพเพราะไม่สามารถแบกภาระขาดทุนสะสมได้อีกต่อไป หันไปทำอาชีพอื่นที่มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว ขณะที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์หลายรายต้องปิดกิจการด้วยเหตุผลเดียวกัน ประกอบกับราคาอาหารสัตว์เป็นสินค้าควบคุมราคาภายใต้กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้ปรับราคาตามกลไกตลาด หรือแม้มีการเปิดให้นำเข้าบางช่วงก็มีข้อจำกัดหลายด้าน หากราคาขึ้นสูงภาครัฐจะคุมเพดานขั้นสูงไว้ แต่กรณีราคาร่วงกลับไม่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ
นอกจากนี้ เกษตรกรเลี้ยงหมูยังต้องเจอปัญหาทั้งโรคระบาด ASF และ หมูเถื่อน เข้ามาแทรกแซงตลาดและดึงราคาให้ต่ำกว่าทุน แม้จะยังมีการปราบปรามแต่เกษตรกรก็ยังขายหมูเป็นหน้าฟาร์มได้ในราคาขาดทุน ส่วนการเลี้ยงกุ้ง เจอปัญหาต้นทุนผลิตสูงจากราคาอาหารสัตว์ ขาดแคลนแรงงาน ราคากุ้งตกต่ำจากการดั๊มพ์ราคาของประเทศคู่แข่ง ขาดการวิจัยและพัฒนา ส่วนไข่ไก่ ก็ประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงเช่น การปรับราคาครั้งละ 10-20 สตางค์ต่อฟอง ก็มีเสียงต่อต้านเสมอ
เห็นได้ชัดว่าอาหารทั้งเนื้อสัตว์และสัตว์น้ำ ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ทำให้สินค้าบางรายการหายไปจากตลาดหรือมีจำนวนจำกัด ทำให้ปลายทางผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน รวมถึงปัญหาในห่วงโซ่การผลิตที่ต้องส่งเสริมเทคโนโลยีในการผลิต ต้องได้รับการแก้ไขควบคู่ไปพร้อมกับการทบทวนมาตรการภาษี (Tariff) และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) เพื่อบริหารจัดการให้ต้นทุนการผลิตสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับต้องการของกระแสโลกที่ต้องการสินค้าจากผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารต้องตรวจสอบย้อนกลับกลับถึงต้นทางวัตถุดิบ กระบวนผลิต จนถึงมือผู้บริโภค (from farm to table) และผู้บริโภคเข้าถึงได้ในราคาสมเหตุสมผล จึงหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะช่วงสะสางปัญหาค้างคาของภาคปศุสัตว์ให้หมดภายในรัฐบาล “เศรษฐา 1” ไม่ยืดเยื้ออีกต่อไป.
โดย สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ