เพิ่มอะไร?  ช่วยให้รอดในภาวะวิกฤติราคาสุกรตกต่ำ

ย่างเข้าสู่เดือนเมษายนแล้ว ทั้งเกษตรกรก็ต้องดูแลตนเอง รวมถึงสัตว์ที่เลี้ยงให้ห่างไกลจากโรคลมแดด หรือภาวะฮีท สโตรก (Heat Stroke) กันให้ดี เนื่องจากปีนี้คาดการณ์กันว่าอุณหภูมิจะสูงมากกว่า 40 C ในหลายพื้นที่ ส่วนในเรื่องราคาสุกรที่ขึ้นมาสักพักแล้ว และเริ่มทรงตัว แต่อะไรก็ไม่แน่นอน โดยเฉพาะกลไกการตลาดที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ฉบับที่แล้วเป็นเรื่องของการลด ลดอะไร ที่ช่วยให้รอดในภาวะวิกฤติราคาสุกรตกต่ำ ในฉบับนี้ขอมาเพิ่มแข่งกับอุณหภูมิ เพิ่มอะไรช่วยให้รอดในภาวะวิกฤติราคาสุกรตกต่ำ แต่เพิ่มนี้ น่าจะช่วยดับร้อนกันได้บ้างนะครับ

การเพิ่มที่สำคัญคือ เพิ่มจำนวนลูกสุกรที่ผลิตให้ได้มากที่สุด อันเกี่ยวกับจำนวนครอก/แม่/ปี และจำนวนหย่านม/ครอก โดยที่ยังใช้ต้นทุนการผลิตเท่าเดิม เพียงแค่ปรับเปลี่ยนวิธีการ หรือการจัดการต่างๆ ให้ถูกต้องรัดกุม เหมาะสมมากยิ่งขึ้น หรืออาจลงทุนเพิ่มเติมในส่วนต่างๆ เช่น สายพันธุ์ วัสดุ อุปกรณ์ โรงเรือน หรือค่าจ้างแรงงาน ที่แม้จะเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้น แต่กลับได้ผลผลิตอันแปรเปลี่ยนเป็นค่าตอบแทนแล้วทวีคูณมากขึ้นกว่าเดิม

ปัจจัยแรก เริ่มตั้งแต่กลุ่มผสม ที่ต้องเพิ่มให้มีปริมาณมากเพียงพอ และใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด เริ่มต้นจากสุกรสาวต้องมีการเลือกซื้อ คัดพันธุ์ และใช้งานเฉพาะสุกรที่มีลักษณะดี มีการคลุกโรค กักโรค ด้วยเวลา และในสถานที่เหมาะสม รวมถึงได้รับวัคซีนที่จำเป็น และเหมาะสมกับฝูงของท่านเอง เพื่อให้ได้สุกรสาวที่แข็งแรง ต่อมาถูกกระตุ้นการเป็นสัดโดยใช้พ่อพันธุ์ในเวลา และวิธีการที่เหมาะสม รวมถึงจัดการด้านอาหารและโภชนะที่ดีถูกต้อง มีการปรนอาหารประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนใช้งาน จนกระทั่งสุกรสาวถึงอายุ ได้น้ำหนัก และมีความหนาไขมันสันหลังตามมาตรฐาน และเริ่มเป็นสัดตามวงจรที่เหมาะสม โดยบางฟาร์มอาจต้องคัดทิ้งสุกรสาวก่อนใช้งานมากถึง 30-40% เนื่องจากปัญหาหลักคือ ไม่เป็นสัด นั่นก็หมายความว่าต้นทุนการผลิต ค่าพันธุ์ ค่าอาหาร ค่ายา ค่าวัคซีน และค่าการจัดการอื่นๆ นั้น ก็ย่อมต้องถูกนำไปเฉลี่ยเพิ่มให้สุกรสาวตัวอื่นที่ใช้งานได้ ต้นทุนการผลิตของลูกสุกรแต่ละตัว ก็ย่อมจะต้องเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เน้นทำอย่างไรก็ได้ ให้สุกรสาวที่นำเข้ามา ใช้งานให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้เป็นฤดูร้อน ที่อุณหภูมิสูงมาก อันแน่นอนว่ามีผลมากต่อสุกรสาวให้เป็นสัดช้า เป็นสัดยาก ไม่แสดงอาการเป็นสัด หรือถึงขั้นไม่สมบูรณ์พันธุ์ ไม่เป็นสัด จนใช้งานไม่ได้เลย ดังนั้นจึงต้องเน้นการจัดการสุกรสาวช่วงนี้เป็นพิเศษในเรื่องอุณหภูมิ ความเครียด และการจัดการอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ประเด็นต่อจากเรื่องทำอย่างไรให้สุกรสาวใช้งานได้มากที่สุด คือเรื่องการคัดทิ้งทั้งสุกรสาว และสุกรนาง ที่มีอัตราการคัดทิ้งประมาณ 35-40% ต่อปี การคัดทิ้งนี้เป็นประเด็นสำคัญที่อาจมองได้ทั้งสองด้าน อัตราการคัดทิ้งที่สูง หรือฝูงมีแต่ลำดับ

ท้องน้อยๆ อาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นจริง แต่หากทดแทนด้วยพันธุกรรมที่ดี มีลูกดกขึ้น ก็ทำให้คุ้มค่าน่าคัดทิ้ง แต่ก็ต้องระวังเรื่องสถานภาพโรคที่อาจระบาดขึ้นได้ เช่น PRRS, PED ทั้งภูมิคุ้มกันระดับฝูงอาจไม่นิ่ง หรือไม่สม่ำเสมอ ในทางตรงกันข้าม หากทดแทนด้วยพันธุกรรมเดิมๆ หรือลูกไม่ดก ก็จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่า ต้นทุนการผลิตก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องเลือกอัตราการคัดทิ้งที่เหมาะสมกับฝูง ฟาร์ม พื้นที่ตั้ง หรือปัจจัยของท่านเองมากที่สุด อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะคัดทิ้งเท่าไร ก็ควรคัดทิ้งโดยให้มีวันที่ไม่ให้ผลผลิต (Non Productive Day, NPD) น้อยที่สุด นิยมมากที่สุดคือ คัดทิ้งตอนหย่านม เพื่อลดต้นทุนในส่วนนี้ให้ต่ำที่สุด หากทำในช่วงอื่น ก็อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนให้สูงมากขึ้นได้ สาเหตุการคัดทิ้งส่วนใหญ่ของฟาร์มในไทยได้แก่ สุกรสาวไม่เป็นสัดนานกว่า 90 วัน แม่นางผสมไม่ติด กลับสัด ผสมซ้ำเกิน 3 รอบ แม่สุกรหย่านมแล้วไม่เป็นสัด 2 รอบขึ้นไป ให้ครอกเล็ก พฤติกรรมไม่ดี กัดลูก เลี้ยงลูกไม่ได้  น้ำนมไม่ดี พันธุกรรมไม่ดี เช่น ไส้เลื่อนสะดือ เกิดภาวะคลอดยากหลายลำดับท้อง และแม่สุกรอายุมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นการคัดทิ้งแบบตั้งใจไว้แล้ว ส่วนการคัดทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือโดยไม่ได้คาดการณ์มาก่อนได้แก่ แท้ง เป็นโรค เจ็บป่วย ตาย ขาเจ็บ ขาหัก บาดแผล เป็นต้น

เมื่อกำหนดขนาดกลุ่มผสมให้เหมาะสม รวมถึงมีวิธีการ ขั้นตอนคัดทิ้ง ทดแทน จนเหมาะสมตามแผนของฟาร์มแล้ว ต้องอย่าลืมเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ ให้เหมาะสมเพียงพอด้วยเช่นกัน อันได้แก่ โรงเรือน วัสดุอุปกรณ์ ซองอุ้มท้อง ซองคลอด แรงงาน รวมถึงเงินทุนที่ต้องตระเตรียมไว้ให้พร้อมด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่สองคือ อัตราการเข้าคลอด เป็นที่แน่นอนว่าหากฟาร์ม หรือฝูงใดมีอัตราการเข้าคลอดที่ต่ำ ย่อมได้ลูกสุกรจำนวนน้อย ต้นทุนโดยรวมในส่วนที่แม่สุกรผสมไม่ติด กลับสัด ผสมใหม่ แท้ง หรือตาย ก็อาจคิดมาเฉลี่ยเพิ่มต้นทุนการผลิตให้แก่แม่ที่คลอดลูกรอดมามีชีวิตให้สูงขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นอัตราการเข้าคลอดที่สูง จึงเป็นสิ่งที่ทุกฟาร์มปรารถนา และควรทำให้ได้ด้วยเช่นกัน อัตราการเข้าคลอดมาตรฐานต่ำสุดที่ควรทำได้คือ 80% และหากจะให้ดีควรได้มากกว่า 90% ขึ้นไป ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง หรือควบคุมอัตราการเข้าคลอดให้สูงมีหลายประการ ตั้งแต่เรื่องลำดับท้อง ที่ประชากรฝูงส่วนใหญ่ควรมีลำดับท้องที่ 3-3.5 จะให้ผลดีที่สุด หากส่วนใหญ่เป็นแม่แก่ ลำดับท้องมาก มักมีปัญหาหนองไหล แต่หากส่วนใหญ่เป็นแม่สาว ลำดับท้องน้อย  มักมีปัญหาเรื่องโรคติดเชื้อ ในเรื่องลำดับท้องนี้เจ้าของฟาร์มควรควบคุม และวางแผนจัดการเองให้ดี เพราะสำคัญมาก

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอัตราการเข้าคลอดต่อมาก็คือ สภาวะโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่ทำให้อัตราการเข้าคลอดลดลง ตั้งแต่ผสมไม่ติด กลับสัด แท้ง ที่สำคัญคือ พีอาร์อาร์เอส (PRRS) และอีกโรคที่อาจไม่ได้มีผลต่ออัตราเข้าคลอด แต่มีผลต่อขนาดครอก หรือจำนวนลูกหลังคลอด นั่นก็คือ พีอีดี (PED) จึงต้องจัดการ ควบคุม ป้องกันโรคเหล่านี้ในฝูงแม่พันธุ์ให้ดี จนไม่กระทบต่ออัตราการเข้าคลอด อีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากกับอัตราการเข้าคลอด นั่นก็คือในส่วนของพ่อพันธุ์ที่ให้นำเชื้อ ควรต้องใช้พ่อสุกรที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป แต่ก็ไม่ควรเกิน 3 ปี มีพันธุกรรมที่ดี ให้ลูกดก ไม่มีข้อบกพร่องทางพันธุกรรม เช่น ไส้เลื่อน พ่อสุกรต้องไม่ดุ ควบคุมง่าย นิ่ง ต้องกำหนดแผนการปลดและทดแทนสำรองพ่อไว้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือ อัตราการใช้งานพ่อสุกรต้องเหมาะสมด้วยเช่นกัน พ่อสุกรอายุมาก รีด 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ห่างกัน 5 วัน พ่อสุกรอายุน้อย รีด 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ห่างกัน 7 วัน  เพราะการใช้งานบ่อยเกินไป อาจส่งผลต่อปริมาณ และคุณภาพน้ำเชื้อให้ด้อยลง อันจะส่งผลต่ออัตราการผสมติด ยาวไปจนถึงอัตราเข้าคลอดให้มากหรือน้อยลงได้เช่นกัน คุณภาพน้ำเชื้อเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องมีปริมาณที่มากพอ รีด 1 ครั้งไม่ควรได้น้อยกว่า 200 ซีซี และ 1 ซีซีควรมีจำนวนตัวอสุจิประมาณ 300-500 ล้านตัว อีกทั้งลักษณะของตัวอสุจิต้องปกติ ลักษณะที่ผิดปกติส่วนหัวไม่ควรเกิน 10% ส่วนหางไม่ควรเกินอย่างละ 5% อื่นๆ ไม่เกิน 5% รวมทั้งคุณภาพในส่วนตัวเป็นตัวตาย และอัตราการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า

น้ำเชื้อต้องได้รับการเจือจาง เก็บรักษา และนำมาใช้อย่างเหมาะสม เริ่มตั้งแต่การตรวจสัดให้ถูกต้องเหมาะสม แม่สุกรแสดงอาการเป็นสัด ยืนนิ่ง ผสมเทียมในช่วงเวลาที่เหมาะสมถูกต้อง มีวิธีการผสมที่ดี สะอาด ลดการปนเปื้อนให้น้อยที่สุด เทคนิคต่างๆ ที่แต่ละฟาร์มอาจเลือกมาใช้เพื่อช่วยให้ผสมติดดีขึ้น จนนำไปสู่อัตราการเข้าคลอดที่สูงได้แก่ ช่วงก่อนผสม – มีพ่อสุกรดุนสะโพก สวาป ก้น คนกระตุ้นใช้มืองัดช่วงสะโพก 5 ครั้ง 10 วินาที ลูบและดึงช่วงท้องมาถึงสวาป 5 ครั้ง 10 วินาที ขย่มหลัง 5 ครั้ง 10 วินาที หงายมือ ใช้สันมือลูบสวาปลง 5 ครั้ง 10 วินาที ใช้ฝ่ามือ อุ้งมือดันใต้อวัยวะเพศ แม่สุกรจะตัวงอเล็กน้อย ในช่วงกำลังผสม – พ่อจะกัดคอ ขึ้นหลัง ให้ทดแทนโดยใช้กระสอบทรายถ่วงน้ำหนัก คนนั่งบนหลัง ใช้เข่ากระตุ้นสีข้าง สวาป มีพ่อสุกรอยู่ด้านหน้าต้องนิ่ง น้ำเชื้อจะไม่ไหลย้อนออกมามาก หลังผสม – รีบเอาพ่อออกไป ทิ้งเดือยผสมคาไว้ ปิดจุก ทั้งนี้ในบางขั้นตอน อาจมีการใช้ฮอร์โมนร่วมด้วย

การผสมให้ได้คุณภาพที่ดีสุดนั้น นอกจากพิจารณาในส่วนพ่อสุกร และแม่สุกรขณะนั้นแล้ว ยังอาจต้องพิจารณาไปช่วงก่อนหน้าของครอกที่แล้วด้วย นั่นก็คือ ไม่ควรให้แม่สุกรเลี้ยงลูกน้อยกว่า 21 วัน เนื่องจากหากน้อยกว่านี้ ระบบสืบพันธุ์ยังอาจซ่อมแซม และพัฒนาให้พร้อมสำหรับการเป็นสัด ผสม และตั้งท้องรอบใหม่ได้ไม่ดีนัก การเลี้ยงลูกที่นานก็จะช่วยทำให้มีความสมบูรณ์พันธุ์เพิ่มมากขึ้น อัตราการผสมติด อัตราการเข้าคลอดก็จะดีขึ้น จำนวนลูกสุกรก็จะเพิ่มขึ้น หลังหย่านมในเวลาที่เหมาะสมแล้ว แม่สุกรมากกว่า 90% ควรเป็นสัดภายใน 7 วัน แต่ที่ดีสุด และส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นคือ ไม่เกิน 5 วัน ในช่วงนี้ก็จำเป็นต้องเสริม หรือเพิ่มความสมบูรณ์พันธุ์ให้สูงมากขึ้น ฮอร์โมนผลิตมากขึ้น มีจำนวนไข่ที่สมบูรณ์ตกมากขึ้น ในช่วงนี้ด้วยการปรนอาหารให้มากที่สุด

ปัจจัยสุดท้ายคือ ขนาดครอก เป็นที่แน่นอนว่าเราต้องการเพิ่มขนาดครอกให้ใหญ่มากขึ้น ได้จำนวนลูกเพิ่มมากขึ้น ก็ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตต่อตัวลูกสุกรลดต่ำลง ขนาดครอกถูกกำหนดด้วยปัจจัยแรกที่สำคัญสุดคือ พันธุกรรม สายพันธุ์ที่ตัวยาว มดลูกยาว เช่น ฟินนอร์ เดนมาร์ค จะทำให้ตัวอ่อนมีโอกาสฝังตัวและรอดชีวิตมากขึ้น ขนาดครอกก็ย่อมใหญ่ขึ้นด้วย สายพันธุ์เหมยซาน ตกไข่มากและเร็ว ฮอร์โมน P4 สูง เอ็มบริโออายุเท่ากัน ฝังตัวดี รอดดี ขนาดครอกก็ย่อมใหญ่ขึ้นเช่นกัน ขนาดครอกอาจถูกกำหนดพันธุกรรมของพ่อสุกรด้วย  การจัดการแม่สุกรเพื่อกระตุ้นให้ตกไข่มากและพร้อมกัน เช่น ปรนอาหาร ใช้พ่อกระตุ้น มีขั้นตอนและวิธีการผสมที่เหมาะสมเช่น อายุ การยืนนิ่ง การกระตุ้น จำนวนครั้งการผสม โดยมีข้อมูลว่าการผสม 2 ครั้ง จะให้ขนาดครอกใหญ่กว่าผสมครั้งเดียว แต่หากผสม 3 ครั้ง อาจให้ตัวอ่อนหลายอายุ อาจส่งผลเสียต่อขนาดครอกมากกว่า ขั้นตอนและเทคนิคต่างๆ ของการผสมก็ให้ผลเช่นเดียวกับเรื่องของอัตราการเข้าคลอดที่กล่าวมาข้างต้น

ปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับขนาดครอก ได้แก่ ลำดับท้องในช่วง 3-5 จะให้ขนาดครอกที่ใหญ่และมีคุณภาพมากที่สุด การจัดการเพื่อให้มีขนาดครอกใหญ่ หรือไม่ลดลงในช่วงฤดูร้อนนี้ก็คือ อุณหภูมิ ความเครียดจากความร้อน (Heat Stress) ในช่วงหลังหย่านม และช่วง 15 วันแรกหลังผสม มีรายงานว่าอุณหภูมิที่สูงมากกว่า 32 C จะทำให้เอ็มบริโอตายไป 1 ตัว ดังนั้นจึงเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน อันจะเป็นการเพิ่มทั้งขนาดครอก และอัตราเข้าคลอดด้วย เพื่อให้รอดพ้นภาวะวิกฤติราคาสุกรตกต่ำในหน้าร้อนนี้ ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ อาหาร และโภชนะที่ต้องสมบูรณ์ไปด้วยวิตามิน A, E, B2, B12, กรดโฟลิก, ไบโอติน, โคลีน, ซีลีเนียม, อาร์จีนีน, ไลซีน, บีเทน ล้วนมีรายงานว่ามีผลช่วยให้ลูกดก มีขนาดครอกใหญ่ขึ้น ส่วนการจัดการด้านอาหาร ปรนอาหารในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ภายใน 72 ชม. หลังผสมไม่ควรเพิ่มอาหาร ปรับการให้อาหารตามหุ่น (BCS) รวมถึงเพิ่มอาหารในช่วงตั้งท้องระยะท้าย และหลังคลอด และหากมีระยะให้นมเลี้ยงลูกนานขึ้น เป็นสัดครั้งต่อไปจะมีจำนวนไข่ตกมากขึ้น และขนาดครอกก็ใหญ่ขึ้นเช่นกัน

ที่สำคัญอาหารต้องปลอดจากสารพิษเชื้อรา เช่น อะฟลาทอกซิน ฟูโมนิซิน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อสุขภาพแม่สุกรให้ป่วย อ่อนแอ ลูกในท้องก็ย่อมได้รับ ทำให้อ่อนแอ หรือตายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีราลีโนนซึ่งมีผลต่อระบบสืบพันธุ์แม่สุกรในเกือบทุกรูปแบบตั้งแต่กลับสัด ผสมไม่ติด แท้ง ลูกตาย มัมมี่ ตายแรกคลอด หรือเกิดมาอ่อนแอ ซึ่งล้วนทำให้ขนาดครอกเล็กลง ในส่วนของโรคติดเชื้อที่มีผลต่อขนาดครอกทำให้เล็กลงได้แก่ พาร์โวไวรัส (PPV) ที่ทำให้ลูกตาย กลายเป็นมัมมี่ เซอร์โคไวรัส (PCV2) ที่ทำให้ไม่สมบูรณ์พันธุ์ แท้ง ดูดซึมกลับ มัมมี่ อ่อนแอ อันทำให้จำนวนลูกมีชีวิตแรกคลอดน้อยลง ขนาดครอกก็เล็กลง จึงจำเป็นต้องจัดการ ควบคุม ป้องกันโรคเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือให้วัคซีนก็ตาม  

สำหรับเดือนนี้เป็นเรื่องของการเพิ่ม เพิ่มอะไร คำตอบก็คือ เพิ่มกลุ่มผสม เพิ่มขนาดครอก และเพิ่มอัตราเข้าคลอด ท้ายที่สุดก็เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันก็คือ ให้ได้จำนวนลูกสุกรเพิ่มมากขึ้นที่สุด เป็นที่แน่นอนว่าเมื่อได้จำนวนลูกสุกรแรกเกิดมีชีวิต และแข็งแรง และครอกใหญ่มากยิ่งขึ้นเท่าใด โดยที่ยังคงใช้จำนวนแม่พันธุ์เท่าเดิม หรือต้นทุนด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ โรงเรือน อาหาร และอื่นๆ เท่าเดิม หรือเพิ่มเติมเข้ามาไม่มากนัก ต้นทุนการผลิตลูกสุกรเฉลี่ยต่อตัวโดยรวม ไม่ว่าจะระยะไหน ตั้งแต่แรกเกิดจนขุนขายนั้น ย่อมต่ำกว่าการผลิตลูกสุกรได้แต่ครอกเล็กอย่างแน่นอน โอกาสขาดทุนก็จะน้อยลง โอกาสได้กำไรก็จะเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มนี้มีส่วนช่วยให้รอดในภาวะวิกฤติราคาที่ตกต่ำวนกลับมาอีกรอบหนึ่งได้อย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย ขึ้นกับบริบทของแต่ละฟาร์ม การเพิ่มไม่ได้หมายความเฉพาะการเพิ่มต้นทุน แล้วต้องได้กำไรน้อยลงเท่านั้น เพราะการเพิ่มตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ได้ผลลัพธ์สูง มีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น จนขายและได้กำไรจนเอาชนะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น สวัสดีปีใหม่ไทย สุขสันต์วันสงกรานต์ 2566………

 โดย น.สพ. ยุทธ  เทียมสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บจก. เซ็นทรัลลิส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related News