ก.เกษตรฯ เตรียมเจรจาเปิดตลาดส่งออกใหม่ สร้างสมดุลราคาในประเทศ
รมว.กษ. สุดปลื้ม ไทยเจรจาเปิดตลาดไข่ไก่ไปไต้หวันประสบความสำเร็จ คาดเดือนมีนาคม 2566 จะส่งออกได้ประมาณ 5 – 8 ล้านฟอง และมีแนวโน้มการส่งออกมากขึ้น จากนี้ไปเตรียมเปิดเจรจาเพิ่มอีกหลายประเทศ เพื่อสร้างตลาดส่งออกใหม่ หวังเร่งระบายผลผลิตช่วยสร้างสมดุลราคาในประเทศ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยข่าวดี ไต้หวันไฟเขียวรับซื้อไข่ไก่สด
จากไทยครั้งแรก โดยกรมปศุสัตว์ได้หารือร่วมกับนายอิแซค เฉิง-ชาง เซีย ผู้อำนวยการส่วนนโยบาย สำนักงานการค้า
และวัฒนธรรมไต้หวันประจำประเทศไทยและนายชิง ซอง เฉิง ผู้เชี่ยวชาญสำนักตรวจสอบและกักกันพืชและสัตว์
แห่งไต้หวัน (BAPHIQ) พร้อมคณะ เพื่อกำหนดแนวทางการเปิดตลาดไข่สดไปยังไต้หวัน โดยพิจารณาเงื่อนไขการส่งออก รูปแบบของหนังสือรับรอง ตลอดจนวิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การที่ไต้หวันอนุมัติให้มีการนำเข้าไข่ไก่สดจากประเทศไทย
เป็นครั้งแรก โดยสามารถดำเนินการได้ทันทีในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งจะส่งออกได้ประมาณ 5 – 8 ล้านฟอง และมีแนวโน้ม
เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไต้หวันมีความต้องการบริโภคประมาณ 20 ล้านฟองต่อวัน
ด้านนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ไต้หวันเลือกนำเข้าไข่สดจากไทยเป็นครั้งแรก นับเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ของประเทศไทยที่จะสามารถมีตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม
จากเดิมที่ส่งออกไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นหลัก ซึ่งผลสำเร็จจากการเจรจาเปิดตลาดนี้ เป็นไปตามนโยบาย “ครัวไทย
สู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืน” ของดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยมอบหมายให้กรมปศุสัตว์กำกับควบคุมดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
ด้านความปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) โรงฆ่าและโรงแปรรูปที่มีการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี (Good Hygiene Practices: GHPs) และระบบ
การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Points: HACCP) สอดคล้อง
ตามข้อกำหนดของกฎหมายในประเทศ ตามระเบียบของประเทศคู่ค้าและตามหลักสากลทำให้หลายประเทศมั่นใจในมาตรฐานการผลิต คุณภาพ และความปลอดภัยทางอาหารของไทย
ในขณะนี้หลายประเทศประสบปัญหาไข่ไก่ขาดแคลนและราคาสูงมาก จากสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนก
เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น อีกทั้ง ผู้ผลิตบางส่วนในประเทศดังกล่าวข้างต้นเลิกกิจการ เนื่องจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ดีของไทย
ในการขยายตลาดส่งออกไข่ไก่ เพื่อเพิ่มปริมาณส่งออกและนำเข้าเงินตราต่างประเทศมากขึ้น จากนี้ไปจะมีการเปิดตลาด
ของไข่สดอีกหลายประเทศเพื่อสร้างตลาดส่งออกใหม่ จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาระดับการผลิตและการบริโภค
ให้ใกล้เคียงภาวะสมดุล