ลดอะไร?  ช่วยให้รอด ในภาวะวิกฤติราคาสุกรตกต่ำ

ย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม ที่ปีนี้น่าจะอุณหภูมิร้อนจัดไปแตะ 43 C กันเลยทีเดียว ร้อนกายไม่พอ ยังร้อนใจเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกันอีกมากมายหลายประเด็น สำคัญสุดคือราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มได้ลดลงอย่างน่าตกใจ บางพื้นที่ได้ลงมาแตะหลัก 70 กว่าบาทกันแล้ว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการบิดเบือนกลไกการตลาด และเนื้อสุกรลักลอบนำเข้าเถื่อนที่สร้างความปั่นนป่วนกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในส่วนนั้นคงต้องเป็นระดับนโยบาย หรือเรื่องราวของภาครัฐ และเอกชน ร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขวิกฤตินี้ แต่ในส่วนคนเลี้ยงสุกรเองนั้น สิ่งที่จะทำได้คือ ลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง ซึ่งแน่นอนว่าทุกฟาร์มคงต้องทำกันอยู่แล้วในขณะนี้ ซึ่งนอกจากการลดบางประการแล้ว ยังอาจจำเป็นต้องเพิ่มบางประการ จะลดอะไร จะเพิ่มอะไร เพื่อให้ผ่านวิกฤติรอบนี้ หรือรอบไหนๆ ก็ติดตามหาคำตอบกันได้ภายในเนื้อหาฉบับนี้นะครับ

การลดนั้นคงเป็นคำตอบแรกที่ทุกคนนึกออกในทันที ไม่ว่าจะเป็นลดต้นทุนในส่วนค่าอาหาร ลดการใช้ยา ลดการทำวัคซีน ลดระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น ลดการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ลดการใช้คลอรีน เป็นต้น รวมถึงลดระยะเวลาเลี้ยง ลดน้ำหนักที่ส่งขายให้น้อยลง และอีกสารพัดมากมายที่จะลดได้ แต่การลดในแบบที่กล่าวมา หากทำไม่ถูกต้องเหมาะสม หรือเกินเลยไปมาก ก็มักจะก่อให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงตามมา เช่น ทำสูตรอาหารให้ถูกลง เปลี่ยนชนิดวัตถุดิบที่ราคาต่ำลง แต่ย่อยไม่ได้ มีสารต้านโภชนะ ทำให้โภชนะต่ำหรือไม่สมดุล อาจส่งผลให้ FCR และ FCG แย่ อ่อนแอ ป่วยง่าย ภูมิคุ้มกันลด หรือมีสารพิษเชื้อรา หรือวัตถุดิบอื่นปลอมปนมามากขึ้น ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพสุกรอย่างชัดเจน ยิ่งทำให้แย่ลงไปอีกในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ซึ่งการลดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาหารนั้น เคยได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง “ปรับตัวอย่างไรดี เมื่อวัตถุดิบอาหารสัตว์ขึ้นราคา” ตามไปอ่านกันได้ในฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 นะครับ ส่วนการลดที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ อีก เช่น ลดการใช้ยารักษาโรค อาจทำให้สุกรตายมากขึ้น เสียหายมากขึ้น เช่นเดียวกับการลดวัคซีนป้องกันโรค ที่หากเกิดโรคระบาดขึ้นมา เช่น อหิวาต์สุกร พิษสุนัขบ้าเทียม ปากและเท้าเปื่อย รวมถึงอีกหลายๆ โรคที่ไม่ได้กล่าวไว้ที่นี้ ย่อมก่อเกิดความเสียหายที่รุนแรงมากขึ้น สำคัญที่สุดคือ หากลดระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ แล้วเชื้อโรค ASF ที่ยังมีอยู่ในบ้านเรา เกิดการติดเข้ามาในฟาร์ม นั่นคือความหายนะขั้นสูงสุดเลยทีเดียว ยิ่งในภาวะราคาตกต่ำเช่นนี้ ย่อมผ่านไปไม่ได้แน่นอน

การลดอันเหมาะสมที่ควรทำ ได้แก่ การลดอัตราตายตั้งแต่แรกคลอดที่ควรน้อยกว่า 5% หรือกรณีลูกกรอก มัมมี่ อื่นๆ ไม่ควรเกิน 2% ซึ่งปัญหาตายแรกคลอดมักเกิดขึ้นในแม่สาวที่อาจมีปัญหาด้านพันธุกรรม เชิงกราน หรือเกิดจากการผสมครั้งแรกที่ไม่เหมาะสม   แต่ก็มักเกิดขึ้นในแม่อายุมากลำดับท้องที่สูงขึ้นได้เช่นกัน  โดยเฉพาะท้อง 5 ขึ้นไป  หรือกรณีลูกดก

มาก ส่วนการจัดการที่อาจส่งผลเพิ่มอัตราตายแรกคลอดได้แก่ อากาศร้อนจัด เครียด แม่หอบ อากาศระบายไม่ดี ปริมาณออกซิเจนน้อย แก๊สอันตรายเช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ แอมโมเนีย หรือไข่เน่า มีปริมาณมากขึ้นเกินเกณฑ์ปลอดภัย ย้ายขึ้นกรงคลอดช้าไป กรงแคบ หรือใช้ฮอร์โมนเหนี่ยวนำคลอดไม่เหมาะสม ขาดอาหาร ขาดแคลเซี่ยม ขาดน้ำ ท้องผูก โรคหรือภาวะที่ทำให้เกิดไข้ ภาวะผอมหรืออ้วนเกินไป ขาเจ็บ อื่นๆ ได้แก่ ขาดการเฝ้าช่วยคลอด ควันจากเผาหญ้า กลิ่นจากเชื่อมโลหะ เสียงจากซ่อมกรง เป็นต้น ซึ่งหากรู้ปัจจัยหรือสาเหตุแล้ว เราพยายามที่จะลด โดยวิธีจัดการปรับโครงสร้างฝูงประชากร คัดเลือกพันธุ์ ปรับสภาพแวดล้อม น้ำ อาหาร การจัดการ รวมถึงการใช้ยารักษา อัตราตายแรกคลอดก็จะลดลง มีจำนวนลูกสุกรแรกคลอดมีชีวิต และแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น โดยที่ยังมีต้นทุนการผลิตจากแม่สุกรเท่าเดิม นั่นย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตลูกสุกรต่อตัวลดลงแน่นอน การขาดทุนก็จะลดน้อยลง หรือได้กำไรที่มากขึ้น

นอกจากการจัดการแล้ว ยังต้องลดปริมาณเชื้อโรค และการแพร่กระจายติดต่อ เพราะยังมีโรคอีกมากมายที่ส่งผลต่ออัตราตายแรกคลอด ที่เป็นโรคติดเชื้อ ได้แก่ โรค PRRS โรคพาร์โวไวรัส โรคพิษสุนัขบ้าเทียม โรคไข้ฉี่หนู โรคไข้หนังแดง โรคอีเพอร์ริโทรซูโนซิส โรคทอกโซพลาสโมซิส ส่วนที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ ได้แก่ สารพิษเชื้อรา ในส่วนโรคนี้อาจป้องกันด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่ใช้ได้กับทุกโรค หรือวัคซีนที่ใช้ป้องกันบางโรคได้ วิธีการลดโรคที่สำคัญคือ คงไว้ หรือเพิ่มระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และใช้วัคซีนป้องกันโรคตามความเหมาะสม แม้ต้นทุนการผลิตในส่วนแม่สุกรจะสูงขึ้นจากวัคซีนที่ต้องทำเพิ่มเพื่อป้องกันโรค หรือลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระบบสืบพันธุ์ให้น้อยลง นั่นย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตลูกสุกรต่อตัวเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับการที่ไม่ได้ทำ หรือไม่ได้ปรับการจัดการอะไรเลย ผลลัพธ์ก็เป็นไปได้ว่าต้นทุนการผลิตลูกสุกรต่อตัวลดลงจะลดลง หากมีการใช้วัคซีนด้วยโปรแกรม และราคาที่เหมาะสม คุ้มค่าการลงทุน แล้วได้จำนวนลูกสุกรเพิ่มมากขึ้น ตายน้อยลง การขาดทุนก็จะลดน้อยลง หรือได้กำไรที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน หากไม่ทำแล้วแม่สุกรเกิดโรคอันส่งผลต่อตัวสุกรให้ป่วย ตาย ต้องคัดทิ้ง แม้ไม่มีต้นทุนค่าวัคซีน แต่ต้นทุนต่อจำนวนลูกที่เหลือย่อมสูงขึ้นแน่นอน เพราะเหลือจำนวนที่น้อยลง

การลดประเด็นต่อมาที่สำคัญ และทำได้ยากพอสมควร และถือเป็นอีกหนึ่งจุดวิกฤติที่ต้องระวังของการเลี้ยงสุกรนั่นก็คือ ลดอัตราตายก่อนหย่านม ซึ่งบางส่วนเป็นผลต่อเนื่องมาจากช่วงอุ้มท้องระยะท้าย ซึ่งจะเป็นช่วงที่ลูกในท้องเจริญเติบโตเร็วมากที่สุด หากช่วงนี้โตดี จะทำให้มีน้ำหนักแรกเกิดมาก ซึ่งมีความสัมพันธ์ส่งผลให้อัตราการตายก่อนหย่านมลดต่ำลง หากมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 1.25 กก. จะมีโอกาสตายจากภาวะขาดสารอาหารและติดเชื้อโรคได้ง่าย ตายได้สูงขึ้น มีการศึกษายืนยันว่าน้ำหนักแรกคลอดที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆ 100 ก. จะมีความสัมพันธ์ส่งผลให้น้ำหนักหย่านมเพิ่มขึ้น 500 ก. น้ำหนักแรกเกิดที่มาก หย่านมที่มาก ก็มีผลสัมพันธ์ทำให้อัตราการเจริญเติบโตช่วงขุนดีมากกว่า ใช้เวลาเลี้ยงสั้นกว่า การจัดการสำคัญที่สุดเพื่อลดอัตราการตายก่อนหย่านม นั่นก็คือ ให้ลูกสุกรได้รับน้ำนมเหลือง หรือ colostrum โดยเร็วที่สุด และมากที่สุด อย่างน้อยตัวละ 200-250 ก. ดีที่สุดคือ ได้รับภายใน 6 ชม. แรก เนื่องจากเป็นช่วงที่ลำไส้ยังดูดซึมได้ดีที่สุด แต่เมื่อนานไป ความสามารถในการดูดซึมได้ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 24 ชม. ที่เกือบจะไม่ได้แล้ว การได้รับน้ำนมของแม่ตัวเองจะเป็นการดีที่สุด เพราะได้รับภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ที่ตรงกัน ดูดซึมและนำไปใช้ได้ดีที่สุด น้ำนมเหลืองนอกจากเป็นแหล่งของภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์แล้ว ยังมีสารน้ำหรือแอนติบอดี ที่ช่วยคุ้มครอง ป้องกัน หรือลดความรุนแรงจากการติดโรคได้ จึงเป็นการลดอัตราการป่วยและตายจากโรคติดเชื้อได้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีสารต่างๆ ที่มีผลช่วยในการเจริญเติบโต หรือ Growth factor ต่างๆ เช่น IGF1, IGF2 และ TGF1 ซึ่งเป็นตัวกำหนด FCR ในสุกรช่วงขุนอีกด้วย

การจัดการที่ช่วยลดอัตราตายก่อนหย่านมเริ่มตั้งแต่ในช่วง 7 วันแรกหลังคลอด ถือเป็นช่วงเฝ้าระวังอันตราย ควรมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด  จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แห้ง สะอาด อบอุ่น มีวัสดุปูรองนอน ไฟกก กล่องกก  มีม่านบังลมโกรก

ลูกสุกรเกิดใหม่ต้องการอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงประมาณ 32-35 C  ต้องดูแลแม่สุกรที่ขาเจ็บ ใช้ยารักษาให้หายโดยเร็ว เพราะแม่ที่ขาเจ็บมีโอกาสทับลูกตายสูงมาก ปัจจัยของโรงเรือนที่ช่วยในเรื่องนี้ได้ดีคือ ขนาดกรง หรือซองแม่สุกรต้องกว้าง ยาว พอดี มีเหล็กกั้นท้าย กรณีมีน้ำนมไม่เพียงพอ ต้องมีการประเมินคัดไซส์ ย้ายฝากให้เหมาะสมที่สุด รวมถึงการให้น้ำนมเสริม ร่วมกับสารพลังงานอื่นร่วมด้วย ในช่วงนี้ต้องดูแลเรื่องน้ำนมแม่สุกรเป็นพิเศษ แม่ที่ไม่มีน้ำนม หรือมีปัญหา MMA มักจะเลิกเลี้ยงลูก ในกรณีมาตรฐาน ไม่ควรมีเกิน 2% การจัดการที่ช่วยป้องกันปัญหาน้ำนมน้อย หรือไม่มีน้ำนมเลย เริ่มตั้งแต่คลอด ที่ควรล้วงคลอดให้น้อยที่สุด หรือถ้าจำเป็นต้องทำ ก็ต้องรักษาความสะอาดให้มากที่สุด หลังคลอดมีการใช้ยาป้องกันและรักษา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้-ลดการอักเสบ ฮอร์โมนออกซิโทซิน ฮอร์โมน PGF2 เป็นต้น รวมถึงการประคบร้อนเสริม หลังคลอดควรกินอาหารที่มีคุณภาพให้ได้ปริมาณมากที่สุด ประมาณ 7 วันหลังคลอดควรกินอาหารได้ถึง 6 กก.ต่อตัวต่อวัน เพื่อให้ผลิตน้ำนมได้มากที่สุด โดยแบ่งปริมาณและรอบการให้อย่างเหมาะสม หากแม่กินได้มาก จะสลายเนื้อเยื่อตัวเองออกมาน้อย (ทุก 1 กก. ที่กินเพิ่ม ช่วยลดการเสีย นน. ตัวของแม่ได้ 10 กก.  ลดการเสียความหนาไขมันสันหลังได้ 1.4 มม.) โดยที่สร้างน้ำนมให้ลูกได้มาก ทำให้ลูกมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น (ทุก 1 กก. ของอาหารที่แม่กินได้เกินปกติจะเพิ่ม นน.ครอกได้ 250 ก.) ลูกจะโตดี มีน้ำหนักหย่านมมาก (ทุก 1 กก. ที่ลูกโตขึ้นต้องเกิดจากการกินน้ำนม 4 ลิตร) การได้รับน้ำนมมากเพียงพอ จะมีอัตราการตายต่ำ โตดีในระยะขุน หากเริ่มพบว่าแม่สุกรมีไข้ ไม่กินอาหาร ถือเป็นสัญญาณอันตราย ต้องรีบรักษาโดยด่วน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเกลือ กลูโคส สารอาหาร ยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้ วิตามินแร่ธาตุที่กระตุ้นการกินอาหาร เป็นต้น

การจัดการในส่วนแม่สุกรตั้งแต่ก่อนคลอด จนถึงหลังคลอด ที่ล้วนแล้วแต่มีผลต่อปริมาณน้ำนม ได้แก่ แม่สุกรต้องไม่เครียด มีเวลาพักรอคลอดนานพอ เย็นสบาย ไม่ร้อน (ทุก 1 C ที่เพิ่มจากจุดแม่สุกรสบายคือประมาณ 15-21 C จะลดการปริมาณการกินอาหารลง 3.53% ส่งผลต่อปริมาณน้ำนมจะลดลง 2.37%) แม่ต้องไม่หอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงอุ้มท้องระยะท้าย ต้องควบคุมหุ่นของแม่สุกรไม่ให้อ้วนมากเกินไป ซองอุ้มท้องที่แม่สุกรอยู่ต้องไม่แคบเกินไป ลดภาวะท้องผูกก่อนคลอด น้ำดื่มต้องเพียงพอ โดยต้องการอย่างน้อย 15-20 ลิตร แต่หากอากาศร้อน และผลิตน้ำนมมาก อาจต้องการถึง 30-40 ลิตรเลยทีเดียว น้ำมีอัตราการไหลแรง ไม่ร้อน ที่สำคัญต้องสะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน จนปลอดภัยจากเชื้อโรคเช่น  E.coli พื้นคอกที่แม่สุกรอยู่ต้องสะอาด ลดเชื้อโรคให้น้อยที่สุด แห้ง ไม่มีน้ำขัง ไม่หยาบ ร่องสแลทไม่กว้างจนทำให้หัวนมหลุดลงไปติดบ่อยๆ จนอักเสบ การจัดการควบคุมป้องกันโรคที่มีผลต่อน้ำนม ได้แก่ พยาธิเม็ดเลือด PRRS หรือโรคอื่นๆ ที่ทำให้มีไข้ ควรทำความสะอาดแม่สุกรก่อนคลอด ล้างอวัยวะเพศภายนอก เช็ดเต้านม ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคที่ตัวแม่สุกรหลังคลอด

ปัจจัยในส่วนของตัวลูกสุกรเองนั้น มีขั้นตอนการจัดการที่เกี่ยวข้องกับอัตราการตายก่อนหย่านมได้แก่ การจัดการย้ายฝาก การฉีดธาตุเหล็ก การตัดเขี้ยว หู หาง ตัดฟัน ตอน ให้อาหารเลียราง คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ คุณภาพอาหาร สารพิษเชื้อราในอาหาร ความสะอาด การล้างพักคอกฆ่าเชื้อโรค รวมความปลอดภัยทางชีวภาพอันเกี่ยวกับโรคติดเชื้อต่างๆ ที่พบและสร้างความสูญเสียได้มากในช่วงนี้ เช่น โรค PRRS โรค PED โรคที่ทำให้ท้องเสียในสุกรดูดนมเช่น E.coli บิดคอกซิเดีย โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส โรคกรีสซี่พิก เป็นต้น โดยหากหย่านมที่ประมาณ 24 วัน ควรได้น้ำหนัก 7.5-8.0 กก. ขึ้นไป โดยอัตราการตายก่อนหย่านม หรือตายในเล้าคลอดไม่ควรเกิน 5% หากรวมความสูญเสียทั้งหมดในเล้าคลอดก่อนหย่านมไม่ควรเกิน 10% ต่อมาไปจนถึงช่วงอนุบาล และช่วงขุน อัตราสูญเสียก็ไม่ควรเกินช่วงละ 3%

โดยช่วงต่อไปเราก็ยังคงต้องลดความสูญเสียในช่วงอนุบาล และขุนเช่นเดียวกัน โดยเน้นในเรื่องการจัดการ และสุขภาพ เข้มงวดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพเช่นเดียวกัน ความสะอาดของคอก ส้วมน้ำ ระบบระบายอากาศและแก๊สอันตรายในโรงเรือน ที่สำคัญคือ โรคต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายในช่วงนี้ หากเกิดต้องรักษา และแก้ไขอย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้ควรป้องกันก่อนเกิดโรคจะดีกว่า เช่น โรค PRRS โรคเซอร์โคไวรัส โรคมัยโคพลาสม่า โรคเอพีพี โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบซับซ้อน (PRDC) โรคบิดมูกเลือด โรคลำไส้เล็กไอเลียมอักเสบติดต่อ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดอาการป่วย ลดอัตราการเจริญเติบโต เพิ่มอัตราการตาย และคัดทิ้งให้สูงมากขึ้น ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า หากมีอัตราการตายหรือสูญเสียช่วงก่อนหย่านม หรือช่วงอนุบาล หรือช่วงขุนที่สูงมากขึ้นแล้ว ก็ย่อมทำให้จำนวนตัวสุกรที่เลี้ยงในชุดนั้นๆ ลดน้อยลง โดยที่ยังมีต้นทุนเท่าเดิม ต้นทุนตัวที่สูญเสียตายไป หรือคัดทิ้ง ก็ย่อมกระจายแบ่งไปบวกเพิ่มยังสุกรที่มีชีวิตอยู่ ทำให้ต้นทุนการผลิตสุกรที่อยู่จนส่งถึงส่งขายได้ในชุดนั้นๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน การขาดทุนก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น หรือได้กำไรลดน้อยลง ซ้ำร้ายด้วยสถานการณ์วิกฤติราคาเช่นนี้ ยิ่งทำให้ภาพของกำไร หรือขาดทุนเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

สำหรับเดือนนี้เป็นเรื่องของการลด ลดอะไร คำตอบก็คือ ลดอัตราการตาย รวมถึงสูญเสียทั้งหมดตั้งแต่แรกคลอด ก่อนหย่านม อนุบาล ไปจนถึงขุน ยกตัวอย่างเช่น หากฟาร์มหนึ่งผลิตลูกสุกรแรกเกิดได้น้อย และยังมีมีอัตราการสูญเสียสูง เหลือจำนวนลูกสุกรหย่านมต่อครอกเพียง 8 ตัว ท้ายสุดจะได้กำไรทั้งระบบที่ผลิตสุกรมาต่อตัวประมาณ 520 บาท แต่หากผลิตได้มาก และยังลดการสูญเสียก่อนหย่านมให้ต่ำลงได้ เหลือจำนวนลูกหย่านมต่อครอก 12 ตัว ท้ายสุดจะได้กำไรทั้งระบบที่ผลิตสุกรมาต่อตัวประมาณ 1,100 บาท การลดนี้มีส่วนช่วยให้รอดในภาวะวิกฤติราคาที่ตกต่ำวนกลับมาอีกรอบหนึ่งได้อย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย ขึ้นกับบริบทของแต่ละฟาร์ม เดือนหน้าจะมาต่อในส่วนที่เหลือของการเพิ่ม เพิ่มอะไร ที่จะช่วยให้รอดในภาวะนี้ เพราะการเพิ่มไม่ได้หมายความเฉพาะการเพิ่มต้นทุน แล้วต้องได้กำไรน้อยลงเท่านั้น เพราะการเพิ่มบางอย่าง ทำให้ผลลัพธ์สูง มีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น จนขายและได้กำไรจนเอาชนะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็เป็นได้………

โดย              น.สพ. ยุทธ  เทียมสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บจก. เซ็นทรัลลิส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related News