เอกชัยฟาร์มหนูพิชัย เลี้ยงระบบฟาร์ม ย้ำตลาดโตต่อเนื่อง

จากความชอบในรสชาติของเนื้อหนูที่จับจากธรรมชาติ ส่งผลให้ “พี่เล็ก” ที่ทำนาข้าว จึงทดลองนำหนูมาเลี้ยง ลองผิดลองถูก หาประสบการณ์พัฒนาเป็นระบบฟาร์ม ที่มีประสิทธิภาพได้ผลผลิตดี พร้อมชูมาตรฐาน ความสะอาด สร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงแปรรูปเป็นหนูอบโอ่ง ได้รับตรา OTOP พร้อมส่งเสริมให้ผู้ที่สนใจหันมาเลี้ยงหนูสร้างรายได้ ตั้งเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเอกชัยฟาร์มหนูพิชัย” สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ได้รับการตอบรับที่ดี จนผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ เดินหน้าพัฒนามาตรฐาน รองรับการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

คุณเอกชัย คุ้มทัศ (พี่เล็ก) เจ้าของ “เอกชัยฟาร์มหนูพิชัย” เลขที่ 90 หมู่ 3 ตำบลบ้านหม้อ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิถต์ 53120 โทรศัพท์ 098-5457469 เปิดเผยว่า เดิมทำนาข้าวอินทรีย์ มีการจับหนูที่เป็นศัตรูพืชมารับประทานเป็นประจำ และชอบในรสชาติ จึงเกิดความคิดว่า น่าจะนำหนูมาเลี้ยงได้เหมือนกับกบหรือปลา จึงเริ่มนำหนูนามาทดลองเลี้ยงในโอ่ง ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เพราะเมื่อ 10 ปีก่อน ยังไม่มีข้อมูลการเลี้ยงหนูในโลกออนไลน์มากนัก จนทราบว่า แท้จริงแล้ว หนู เป็นสัตว์ที่รักสะอาด กินที่หนึ่ง อยู่ที่หนึ่ง และขับถ่ายอีกที่หนึ่ง หากปล่อยให้ที่เลี้ยงสกปรก หนูจะไม่กินอาหารและตาย ต่างจากการเลี้ยงในที่สะอาดที่จะโตดี
จากนั้น ก็ศึกษาพัฒนาการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง จนมีผลผลิต เริ่มจำหน่าย โดยนำเสนอความสะอาด ปลอดภัย ต่างจากหนูนาที่จับจากธรรมขาติ ทำให้มีผู้บริโภคสนใจและซื้อไปรับประทาน ทำให้มั่นใจว่า มีตลาดรองรับ และสร้างรายได้ให้แน่นอน จึงตัดสินใจเปลี่ยนฟาร์มไก่ชนของพ่อมาเป็นฟาร์มเลี้ยงหนูทั้งหมด ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากชาวบ้านใกล้เคียงว่า บ้า ที่หันมาเลี้ยงหนูที่หาได้ตามท้องนา แต่ทุกวันนี้ หนูธรรมชาติหายากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการใช้สารเคมีในการเกษตร ต่างจากการเลี้ยงในระบบฟาร์มที่ปลอดจากสารตกค้างแน่นอน และผู้ที่เคยรับประทานหนูฟาร์มแล้วก็ชื่นชอบ รวมถึงมั่นใจในความปลอดภัย เพราะทราบแหล่งที่มา ประกอบกับอาการของโรคประจำตัว ทำงานหนักมากไม่ได้ จึงหันมาเลี้ยงหนูเป็นอาชีพหลัก
หนู แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. หนูหริ่ง หรือหนูบ้าน ที่มีขนาดเล็ก 2. หนูพุกเล็ก ที่น้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 500 กรัม แบะ 3. หนูพุกใหญ่ ที่ฟาร์มเลือกเลี้ยง เนื่องจากตัวใหญ่ โตได้ถึง 2-3 กิโลกรัม หากได้รับอาหารดี มีโปรตีนสูง ซึ่งจากประสบการณ์มั่นใจว่า เหมาะกับการเลี้ยงในระบบฟาร์มและให้ผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากเติบโตได้ดี ใช้ระยะเวลาเลี้ยงสั้น ขายได้ราคา ช่วยให้คืนทุนไว

เดิมตลาดหนูธรรมชาติ ผู้บริโภคนิยมขนาด 2-3 ตัว 1 กิโลกรัม แต่ พี่เล็ก มองว่า ถ้าชอบทานเนื้อหนูจะไปแทะกระดูกทำไม จึงทำหนูตัวใหญ่ เพื่อให้มีเนื้อมาก และสร้างความแตกต่างระหว่างหนูฟาร์มและหนูธรรมชาติ โดยช่วงแรกคิดว่า ต้องใข้เวลาทำความเข้าใจกับผู้บริโภคอยู่บ้าง แต่เมื่อเริ่มจำหน่ายพบว่า ตลาดให้การตอบรับดีมาก มีกลุ่มที่ต้องการหนูตัวใหญ่ เนื้อมาก โดยเริ่มจับหนูจากธรรมชาติมาเลี้ยงขยายพันธุ์ ก่อนนำหนูจากแหล่งอื่น มาผสมพัฒนาพันธุ์ ป้องกันปัญหาเลือดชิด จนได้หนูที่ตัวใหญ่ขนาดสม่ำเสมอ เลี้ยงแล้วได้น้ำหนักดี

เอกชัยฟาร์ม เลี้ยงหนูในบ่อ โดยใช้วงซีเมนต์เส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร วางซ้อนกัน ด้านล่างเป็นฝาปูนวงกลม ป้องกันไม่ให้หนูขุดดินหนี ด้านบนบ่อใช้ฝายิปซั่ม ทำระบบให้น้ำโดยใช้ข้องอ และใช้ขวดพลาสติกให้น้ำระบบน้ำล้น โดยต้นทุนการสร้างบ่อ วงซีเมนต์วงละ 100 บาท ใช้ 2 วง ฝาปูน 80 ฝาประมาณ 50 บาท รวมระบบน้ำ ไม่เกิน 400 บาท เป็นตัวอย่างให้กับผู้ที่สนใจเลี้ยง เพราะการลงทุนถือเป็นปัจจัยใหญ่ในการตัดสินใจ และสามารถปรับเปลี่ยนตามราคาวัสดุในแต่ละพื้นที่ได้
สำหรับการเลี้ยง เริ่มจาก พ่อแม่พันธุ์ เลี้ยงในบ่อเดียวกัน ใส่พ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 1 ตัว เมื่อได้ลูกให้แม่เลี้ยง 25-30 วัน ก็หย่านมแล้วแยกออกไป หากเลี้ยงนานกว่านี้ แม่จะคลอดลูกรุ่นถัดไปออกมาก่อน ทำให้จัดการยาก เพราะแม่พันธุ์ใช้เวลาพักท้องเพียง 7 วัน ก็ผสมใหม่ได้ ซึ่งการเลี้ยงลักษณะนี้ช่วยทำให้มีผลผลิตต่อเนื่อง โดยการพ่อแม่พันธุ์ แต่ละรุ่นจะใข้ผลิตลูกเพียง 4 ครอก จากนั้นก็ปลดขายเป็นหนูเนื้อ เพราะหนูให้ลูกได้ทุกเดือน แต่หลังจาก 5 เดือนไปแล้ว จะให้ลูกช้าลงอาจเพิ่มเป็น 1 เดือนครึ่งหรือ 2 เดือน
แม่พันธุ์ให้ลูกครอกละ 5-15 ตัว แต่ขนาดครอกที่ดีอยู่ที่ 7-9 ตัว เพราะลูกแต่ละตัวจะได้กินนมจากแม่และกินอาหารได้อย่างเพียงพอ ทำให้โตดีมีขนาดสม่ำเสมอกัน หลังจากหย่านมแล้ว จะนำมาเลี้ยงในบ่อหนูเนื้อ เมื่ออายุ 1 เดือนครึ่งขึ้นไป หากเป็นลูกครอกแรกของพ่อแม่พันธุ์แต่ละคู่ จะคัดตัวที่มีลักษณะโดดเด่น เช่น กกหางใหญ่ ลำตัวยาว ตัวใหญ่ ตัวผู้น้ำหนัก 8-900 กรัมขึ้นไป ตัวเมียน้ำหนักไม่เกิน 600 กรัม เพราะหากตัวใหญ่กว่านี้จะให้ลูกไม่ดี คัดไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ทดแทน แยกเลี้ยงพ่อพันธุ์ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 4 เดือน เพื่อให้มีความสมบูรณ์พันธุ์ดี ส่วนแม่พันธุ์อายุไม่ต่ำกว่า 3.5 เดือน เป็นช่วงที่ติดสัดพอดี เมื่อนำมาลงบ่อพ่อแม่พันธุ์จะผสมกันและให้ลูกได้เร็ว ส่วนตัวที่เหลือ และลูกครอกที่ 2 ขึ้นไป จะนำไปเลี้ยงขุนเป็นหนูเนื้อทั้งหมด เลี้ยงจนถึงอายุ 2.5 เดือน น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 700 กรัม เลี้ยงในอัตราส่วน 10 ตัวต่อบ่อ หากเลี้ยงหนาแน่นกว่านี้ อาจต้องใช้เวลาขุนนานขึ้น
อาหารที่ใช้เลี้ยงหนู สามารถใช้วัตถุดิบที่หาได้ตามท้องถิ่น เช่น ข้าวโพด ข้าวเปลือก อ้อย มันสำปะหลัง หญ้าเนเปียร์ หญ้าขน มะม่วง กล้วย และอื่นๆ ให้กินได้ทั้งหมด ช่วยประหยัดต้นทุน แต่ถ้าใช้อาหารธรรมชาติอย่างเดียว อาจใช้เวลาขุนนานขึ้น ดังนั้น ฟาร์ม จึงเสริมด้วยอาหารข้น โดยใช้อาหารหมูหรืออาหารกบ ให้เสริม โดยให้อาหารข้นตัวละ 1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นในวันถัดไปจะให้กินอาหารธรรมชาติ เช่น ข้าวเปลือก วันถัดมา ให้กินข้าวโพด ต่อไปอีกวันให้กิน หญ้า ก่อนกลับมาเป็นอาหารข้นอีก สลับแบบนี้ไปเรื่อยๆ ช่วยให้หนูกินอาหารที่ไม่จำเจ แต่ไม่ให้แบบผสมอาหารข้นกับวัตถุดิบ เพราะหนูจะแสดงพฤติกรรมเลือกกินอาหารข้น และเขี่ยวัตถุดิบทิ้ง
เนื่องจากหนูเป็นสัตว์ขี้ตกใจ และระแวง ดังนั้น เมื่อเริ่มเลี้ยงแล้วควรทำเสียงดังให้เป็นปกติหรืออาจเปิดเพลงในโรงเรือน สร้างความคุ้นชินให้กับหนูที่เลี้ยง ป้องกันไม่ให้หนูตกใจจนอาจเกิดปัญหากินลูก ส่วนโรค จากที่เลี้ยงมายังไม่เคยพบปัญหาโรคระบาดทำให้หนูที่เลี้ยงตาย แต่ในสภาพอากาศชื้น ช่วงฤดูฝน หรือฤดูหนาว ก็พบอาการคล้ายหวัดอยู่บ้าง ก็แก้ไขด้วยการเสริมใบตะไคร้หรือฟ้าทะลายโจรสดให้กินต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ อาการก็หายไป
หนูที่ฟาร์ม ผ่านการตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์เป็นประจำทุก 3 เดือน จึงมั่นใจได้ว่า ปลอดภัยต่อการบริโภค และเป็นการเลี้ยงที่ไม่ได้ใช้ยาปฏิชีวนะและสารตกค้างไว้ โดยฟาร์มขายหนูเนื้อมีชีวิตในราคากิโลกรัมละ 180-200 บาท พ่อแม่พันธุ์คู่ละ 800 บาท หรือ ชุดละ 1,200 บาท (ตัวผู้ 1 ตัวเมีย 2) นอกจากนี้ยังมีมีหนูสดแช่แข็ง จำหน่ายกิโลกรัมละ 350 บาท และหนูอบโอ่งกิโลกรัมละ 400 บาท (โดยชั่งจากน้ำหนักมีขีวิต เพราะหากคิดราคาหลังอบแล้วอาจสูงเกินไป) ซึ่งตลาดให้การตอบรับดีมาก จนผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการตลาด
เป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มหาเครือข่าย ด้วยการโพสต์ในโซเซียล ทำให้มีผู้ที่สนใจในพื้นที่ใกล้เคียงติดต่อมา เริ่มเลี้ยงในระบบฟาร์ม เพราะทราบต้นทุนตลอดกระบวนการผลิต และมีตลาดรองรับที่แน่นอน จากนั้นจึงตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยใช้ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนเอกชัยฟาร์มหนูพิชัย เพราะเป็นชื่อที่ติดตลาดแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ใหม่ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคและผู้ที่สนใจ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนามาตรฐานการผลิต การแปรรูป การตลาด
พร้อมกันนี้ ยังเดินหน้าทำตลาดด้วยการออกบูธในงานต่างๆ โดย หนูอบโอ่ง ที่เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป และภาพลักษณ์ที่น่าสนใจ รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเซีอลทั้ง เพจ เอกชัยฟาร์มหนูพิชัย, วิสาหกิจชุมชนเอกชัยฟาร์มหนูพิชัย และช่องทางติ๊กต๊อก มีผู้ที่สนใจซื้อไปรับประทาน และบอกปากต่อปาก จนความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากรสชาติเฉพาะตัว หนังกรอบ บาง อร่อย เมื่อผ่านการอบ หรือทอด ไม่ต่างจากหมูหัน เนื้อมีความนุ่มหวาน ส่งผลให้มียอดสั่งซื้อเข้ามาจากทุกช่องทางจนเกินคาด
เป้าหมายในอนาคต เตรียมนำเนื้อหนูไปตรวจหาระดับโภชนะ และสร้างจุดเด่น เพื่อสร้างความน่าสนใจมากขึ้น พร้อมกับพัฒนาขอมาตรฐาน อย. สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ขยายโอกาสทำตลาด ซึ่งที่ผ่านมามีโมเดิร์นเทรดเข้ามาติดต่อให้ผลิตหนูสดแช่แข็งแล้ว แต่ก็ยังมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับ ตลาดต่างประเทศที่เริ่มติดต่อเข้ามาแล้ว ดังนั้น หนู จึงถือเป็นสัดว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อให้กลายเป็นอาชีพที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรได้